บิ๊ก “ไอที” ผูกขาดตลาดมะกัน คนตกงาน-เพิ่มความเหลื่อมล้ำ

The team from Fox Networks group works at Mindspark on August 24, 2016 in Santa Monica, California. MindSpark seeks out people on the high-functioning end of the autism spectrum with behaviors that, while at odds with social norms, are advantages in working with computer technology, according to co-founder Chad Hahn. / AFP PHOTO / Frederic J. BROWN

เป็นที่แน่ชัดว่า ธุรกิจที่ไปได้สวยในตลาดอเมริกาปัจจุบัน คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะบิ๊กไอที ทั้ง “กูเกิล” “เฟซบุ๊ก” รวมทั้ง “อเมซอน” ที่ต่างขยายธุรกิจไปในด้านต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

หนึ่งประเด็นที่ทั้งโลกถกเถียงกันคือ ในอนาคตเทคโนโลยีจะแย่งงานมนุษย์หรือไม่ แม้นักพัฒนาหรือซีอีโอในองค์กรขนาดใหญ่จะเห็นต่าง โดยเฉพาะเจ้าพ่อ “อาลีบาบา” อย่าง “แจ็ก หม่า” จะมองในแง่บวก ว่าเทคโนโลยีจะช่วยสร้างงานให้แก่มนุษย์

แต่ “รานา โฟรูฮาร์” คอลัมนิสต์ของเดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นนี้

ดยรายงานข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า ธุรกิจไอที หรือธุรกิจที่ปรับตัวหาเทคโนโลยีได้เร็วที่สุด จะสามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดไปได้มากที่สุด และธุรกิจเหล่านี้สร้างงานได้ “น้อยลง” ด้วย โดยชี้ว่าทุก ๆ 25% ของกำไรบริษัท สามารถสร้างงานได้เพียง 4% เท่านั้น ถือเป็นจำนวนการสร้างงานที่น้อยกว่ายุคอุตสาหกรรมการผลิต ที่ค่ายรถยนต์ทั้งเจนเนอรัล มอเตอร์ส และเดมเลอร์จ้างงาน นอกจากนี้ยังสร้างงานได้น้อยกว่ายุคยักษ์ไอทีรุ่นก่อน ทั้ง “ไมโครซอฟท์” หรือ “ไอบีเอ็ม”

“โฟรูฮาร์” สรุปความเห็นว่า อัตราการว่างงานที่เกิดขึ้นในสหรัฐในปัจจุบันที่เริ่มก้าวสู่ระดับวิกฤต ส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของธุรกิจไอทีที่ผูกขาดตลาดมากขึ้นนั่นเอง

ขณะที่สำนักวิจัย “แม็คคินซี โกลบอล” ระบุว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลสหรัฐอยู่ในภาวะที่ “มีและมีมากขึ้นเรื่อย ๆ” มีการขยายอาณาจักร ผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการเงินหรือข้อมูล ทำรายได้มาก แต่สร้างงานน้อย

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมาก ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก การศึกษาและกิจการของรัฐบาล ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตรงกันข้าม ซึ่งอาจจะทำให้โลกอนาคตเศรษฐกิจจะเหลืออยู่แค่ 2 ลำดับชั้น คือ “ชั้นบนสุด” ที่การผลิตที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ร่ำรวยมาก แต่สร้างงานน้อย และ “ชั้นล่างสุด” ซบเซาสุด ๆ เช่นกัน

แม้เทคโนโลยีจะอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ แต่ก็มาแทนที่มนุษย์ได้อย่างเหลือเชื่อ และลดความซับซ้อนของงานลงไปได้มาก อย่างกรณีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ค่าย “เทสล่า” ที่เตรียมส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกให้ลูกค้าในปี 2017 นี้

ด้วยยอดพรีออร์เดอร์ถึงสี่แสนคัน มีอะไหล่ประกอบเพียง 6,000-7,000 ชิ้นเท่านั้น ขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป มีอะไหล่มากถึง 30,000 ชิ้น กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาครองตลาดแทนรถยนต์เชื้อเพลิงแบบเก่า จะตัดทอนวงจรซัพพลายเออร์ธุรกิจรถยนต์ไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ ปัญหาการว่างงานในสหรัฐมีมาต่อเนื่องเกือบทศวรรษแล้ว เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยให้โตอย่างเชื่องช้า ดังนั้นหนึ่งในนโยบายใหญ่ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี คือคำสัญญาที่ว่าจะสร้างงานเพิ่มให้กับชาวอเมริกัน

เขาถึงกับกดดันบริษัทใหญ่ที่จะย้ายฐานผลิตออกนอกประเทศด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้ในที่สุดค่ายรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเจนเนอรัล มอเตอร์ส โตโยต้า มาสด้า ฯลฯ ตัดสินใจขยายโรงงานเพิ่มในอเมริกาแทน

แต่อาจจะไม่ถูกเสมอไป เพราะค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งฐานทัพใหม่ในสหรัฐนั้น ยังคงผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปอยู่ ในระยะหลัง ยอดขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปลดลง เนื่องจากผู้คนเริ่มมองหารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้บรรดาค่ายรถยนต์ใหญ่วางแผนจะขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2019-2020 ซึ่งจะทำให้ไลน์การผลิตรถยนต์ในอนาคตสั้นลงอีก

คอลัมนิสต์ “โฟรูฮาร์” ได้เสนอทางออกในบทความของเธอว่า การที่จะลดอัตราการว่างงานลงได้นั้น บริษัทไอทีในสหรัฐไม่ควรทำตัวเป็น “winner-takes-all” หาผลประโยชน์ทุกด้าน แต่ควรจะส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจให้ขยายตัว กล่าวคือ การสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งจะสร้างงานให้ผู้คนได้อย่างแท้จริง 


“ในประเทศจีน อาลีบาบาได้นำบรอดแบนด์เข้าไปติดตั้งในชนบทกว่า 1,000 แห่ง เพื่อให้ร้านค้าท้องถิ่นเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยในการสร้างรายได้ในทุกวันนี้ ธุรกิจใหญ่ ๆ ก็ควรทำแบบนี้ ยักษ์ไอทีในสหรัฐเองควรจะใส่ใจประเด็เหล่านี้ด้วย” โฟรูฮาร์ ระบุ