มัสก์-เบซอส แข่งเดือดถึงในอวกาศ

REUTERS/Thom Baur

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

คนที่ร่ำรวยระดับอัครมหาเศรษฐี ระดับ อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบซอส ไม่ควรมีธุรกิจอะไรต้องแข่งขันกันแบบเอาเป็นตาย ถ้าหากทั้งคู่ไม่ได้มีความฝันในวัยเด็กเหมือน ๆ กัน

คนแรกประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการก่อตั้ง เทสลา อิงก์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน จนรู้จักกันไปทั่วโลก ส่วนรายหลังปั้น อเมซอน จากร้านขายหนังสือออนไลน์ ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับโลก ทำรายได้มากมายจน เบซอส กลายเป็นคนรวยที่สุดในโลกอยู่ในเวลานี้

กิจการหลักทั้งสองอย่าง ไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่ทั้งคู่กลับหลงใหลในเรื่องเดียวกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก นั่นคืออยากเห็นผู้คนเดินทางสู่อวกาศ และไปใช้ชีวิตปักหลักทำงานกันอยู่ในห้วงอวกาศ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ มัสก์ ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ กิจการอวกาศเอกชนที่น่าจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในขณะนี้ และเบซอส ก่อตั้งบลูออริจิน ขึ้นมาด้วยเป้าหมายเดียวกัน เมื่อราว 18 ปีก่อน

มัสก์ กับ เบซอส ยังมีแนวคิดเดียวกันอีกด้วย นั่นคือจรวดส่งของพวกเขาต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในทางหนึ่งเพื่อลดต้นทุนการไปสู่ห้วงอวกาศลง ในอีกทางหนึ่งคือเพื่อให้สามารถจัดส่งได้เร็วขึ้นและมากขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญของสเปซเอ็กซ์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ต้นปีนี้ เมื่อประสบความสำเร็จในการทดลองยิงจรวด “ฟัลคอน เฮฟวี” ทำสถิติเป็นจรวดส่งขนาดใหญ่ที่สุดที่ทำงานได้และมีใช้กันอยู่ในโลกในเวลานี้

ก่อนหน้าที่จะประสบผลสำเร็จในการทดลองยิงฟัลคอน เฮฟวี ขึ้นสู่อวกาศแล้วนำท่อนแรกจรวดส่งดังกล่าวกลับมาใช้ใหม่ได้ในครั้งนั้น มัสก์ประกาศเอาไว้ว่า หากการทดลองของสเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จ ผู้สร้างรายอื่น ๆ ก็อย่าหมายแทรกตัวเข้ามาในตลาดนี้ได้อีก “เกมโอเวอร์” ไปแล้วแน่นอน มัสก์เชื่ออย่างนั้นแต่เอาเข้าจริง บรรดานักวิเคราะห์กลับเชื่อในทางตรงกันข้าม นั่นคือความต้องการใช้บริการด้านนี้ยังมีอีกสูงมาก สูงเกินกว่าที่สเปซเอ็กซ์จะครอบคลุมได้ทั้งหมด

นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ความต้องการบริการจัดส่งดาวเทียม หนึ่งในบริการในห้วงอวกาศมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีความต้องการจัดส่งดาวเทียมถึงปีละ 800 ดวง เป็นอย่างน้อย เทียบกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว เป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวนั่นทำให้เชื่อกันว่า การชิงชัยในธุรกิจในอวกาศเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง

จริงๆ แล้ว ไม่เพียงแค่บลูออริจินเท่านั้น ที่ยังเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของสเปซเอ็กซ์ แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายบริษัทที่ตั้งเป้าจะเข้ามาในธุรกิจนี้ ตัวอย่าง เช่น สหพันธ์พันธมิตรการจัดส่ง (United Launch Alliance หรือ ULA) ที่เป็นกิจการร่วมทุนของยักษ์ใหญ่ในวงการบินอย่าง โบอิ้ง กับ ล็อกฮีดมาร์ติน หรือเอเรียนกรุ๊ป ที่เป็นกิจการร่วมทุนของแอร์บัส กับซาฟราน นอกจากนั้น ญี่ปุ่น และจีน ก็กำลังขยับเข้ามาในทิศทางเดียวกันนี้ ด้วยการออกแบบจรวดส่งแบบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่ความเคลื่อนไหวของบลูออริจิน น่าสนใจที่สุดในระยะนี้ เมื่อเบซอสเปลี่ยนความคิดเดิมของตนในการพัฒนากิจการแบบค่อยเป็นค่อยไป ทุ่มทั้งเงินทุนและกำลังคนลงมามหาศาล เพื่อขยับบริษัทจากสถานะ “สตาร์ตอัพ” มาสู่ระยะการผลิตเต็มตัวให้ได้โดยเร็วรวมทั้งการลงทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตจรวดขึ้นใกล้ ๆ กับศูนย์การบินอวกาศเคนเนดี ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ที่ฟลอริดา

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บลูออริจินเพิ่มจำนวนวิศวกรเข้ามาในบริษัทอีกเป็นเรือนพัน และคาดกันว่าภายใน 2-3 ปีนี้ จะเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นไปอีกให้ได้ราวเท่าตัว จนถึงระดับ 3,000 คน

เป้าหมายคือเพื่อเร่งพัฒนาต้นแบบจรวดส่ง “นิวเกล็น” (ตั้งชื่อตามจอห์น เกล็น มนุษย์อวกาศคนแรกของสหรัฐ) ให้แล้วเสร็จทันกับการทดลองยิงให้ได้ภายในปี 2020 เพื่อให้ทันตามสัญญาที่ให้ไว้กับยูเทลสตาร์ ลูกค้ารายแรกที่เป็นกิจการดาวเทียมเอกชนของฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดจะส่งดาวเทียมของตนขึ้นสู่ห้วงอวกาศให้ได้ระหว่างปี 2021-2022 นี้

นักวิเคราะห์ในวงการเชื่อว่า ถ้าหากประสบผลสำเร็จในการทดลองจรวดส่งนิวเกล็น ได้ในปี 2020 ไม่เพียงทำให้บลูออริจินไม่ถูกปรับตามสัญญาได้เท่านั้น แต่ยังสามารถกันเอาผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ยังลังเลไม่แน่ใจ ให้ออกจากการแข่งขันได้ไม่มากก็น้อยอีกด้วย

เดิมพันในเรื่องนี้ไม่เพียงจำกัดอยู่ที่บริการจัดส่งดาวเทียมและการแย่งชิงกันเป็นคู่สัญญาขององค์การอวกาศของประเทศต่าง ๆ เท่านั้น ยังมีกิจการท่องเที่ยวอวกาศในระยะใกล้ที่ราคาค่าตีตั๋วเดินทางคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 ดอลลาร์ต่อเที่ยวต่อคนอีกต่างหาก

มาร์โก คาเซเรส นักวิเคราะห์กิจการอวกาศอาวุโสของแฟร์แฟกซ์ เชื่อว่าถ้าหากนิวเกล็นสามารถพร้อมเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ ก็ต้องถือว่ายังมีโอกาสประสบความสำเร็จในกิจการอวกาศไม่น้อยเลยทีเดียว