“หัวเว่ย” ทะลวงตลาดสหรัฐ สู่ความฝัน No.1 สมาร์ทโฟนโลก

REUTERS/Toru Hanai

5ปีที่แล้ว หากเอ่ยชื่อ “หัวเว่ย” มือถือแบรนด์จีนจากเสิ่นเจิ้น คงไม่มีใครรู้จัก ซ้ำยังตั้งข้อกังขาถึงเรื่องของคุณภาพ หากแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หัวเว่ยมียอดขายขึ้นแซง “แอปเปิล” ขึ้นแท่นสมาร์ทโฟนที่ขายดีอันดับที่ 2 ของโลกรองจากซัมซุงเท่านั้น

ความสำเร็จของหัวเว่ย มาจากการปฏิวัติ พลิกโฉมนวัตกรรมและแบรนด์ของตนให้มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และไม่เคยหายไปจากการปรากฏตัวจากสื่อระดับโลกเลยสักวินาที สมาร์ทโฟนเมกเกอร์จากจีนรายนี้เก่งเรื่องการทำการตลาด พอ ๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับสมาร์ทโฟนแฟลกชิปของซัมซุงและไอโฟน

หัวเว่ยสร้างภาพใหม่ให้อุตสาหกรรมการผลิตของจีนทันสมัยมากขึ้น ไม่ใช่บริษัทคร่ำครึไปไม่เป็นในระดับโลกอีกต่อไป นักวิเคราะห์หลายรายชี้ถึงความสำเร็จในระดับโลกว่า มาจากการทุ่มเงินทำการตลาดอย่างหนักหน่วง ตลอดจนทุ่มเงินลงทุนด้าน R&D และการผลิตแบบไม่น้อยหน้าใครในโลก

ตลาดที่หัวเว่ยมาแรงที่สุดแน่นอนว่าเป็น “จีน” บ้านเกิด ตามด้วยยุโรปซึ่งเป็นภูมิภาคที่หัวเว่ยมีความสัมพันธ์อันดี เพราะก่อนที่จะบุกตลาดขายมือถือ หัวเว่ยเคยเข้าไปก่อสร้างสถานีโทรคมนาคมสำหรับผู้ให้บริการมือถือของยุโรป เช่น Orange S.A. ในฝรั่งเศส หรือ Oyj ในฟินแลนด์มาก่อน ทำให้มีช่องทางในการขาย ตามด้วยตลาดละตินอเมริกาและตะวันออกกลาง

จุดเด่นสมาร์ทโฟนหัวเว่ยหลัก ๆ มาจากหน้าจอขนาดใหญ่ และฟังก์ชั่นกล้องถ่ายภาพที่แอดวานซ์สุด ๆ ตอบรับต่อความต้องการของผู้บริโภค แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้หัวเว่ยเป็นที่รู้จักระดับโลก คือการร่วมมือกับ “ไลก้า” ผู้ผลิตกล้องระดับโลกในการพัฒนากล้องสำหรับมือถือเรือธง ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาน่าประทับใจ

สเป็กตัวเครื่องรุ่นท็อปของหัวเว่ยก็ไม่ใช่เล่น ๆ ในรุ่นหลัง ๆ ได้มีการพัฒนาชิปไลน์ “คิริน” (Kirin) ซึ่งฝังปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับมือถือเรือธง ซึ่งหัวเว่ยเคลมว่าเป็นชิปเซตที่ทำให้ถ่ายรูปสวยกว่าเดิม และประเมินผลด้วยความเร็วมากกว่าเดิม โดยไม่ “หนัก” เครื่องเท่าเดิม ผู้ใช้หลายรายบอก “คุ้มค่า” เพราะได้ฟังก์ชั่นครบเกินครบ ในราคาเบาสบายกว่าแอปเปิลและซัมซุงในตลาดโลก

และต้องยอมรับว่า หัวเว่ยเป็นค่ายที่เก่งด้านการทำมาร์เก็ตติ้ง และทุ่มสุดตัวในการจ้าง “สการ์เลตต์ โจแฮนสัน” นักแสดงฮอลลีวูด และ “ลีโอเนล เมสซี” เจ้าพ่อวงการลูกหนัง มาเป็นเอ็นดอร์เซอร์ในมือถือรุ่นไฮเอนด์ โปรโมตโดยการถือหัวเว่ยเดินทั่วเมืองดัง ๆ ของยุโรป ทั้งขึ้นป้ายบิลบอร์ดในเมืองใหญ่ด้วยกราฟิกที่ทันสมัย ทัดเทียมกับระดับสากล

ขณะเดียวกันหัวเว่ยก็ได้มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการทุ่มเงินด้านวิจัยและพัฒนากว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียุคอนาคตโดยปี 2017 ที่ผ่านมา หัวเว่ยทุ่มงบฯ R&D 15% ของยอดขาย พร้อมระบุว่า ปีนี้จะลงทุนเพิ่มอีกเป็น 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันหัวเว่ยเป็นท็อปซัพพลายเออร์ด้านอุปกรณ์สื่อสารของจีน ซึ่งมียอดขายถึง 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 และเป็นผู้นำในการพัฒนา 5G เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายที่เร็ว แรง และเสถียร รองรับทุกอุปกรณ์ที่อนาคตจะปฏิบัติการโดยมีชิประบบ AI เป็นตัวประมวลผล

“ปีเตอร์ ริชาร์ดสัน” นักวิเคราะห์จากเคาน์เตอร์พอยต์ ยอมรับว่า การเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี 5G อย่างจริงจัง ทำให้หัวเว่ยแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นของโลก และการลงทุน R&D มหาศาล ทำให้หัวเว่ยได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนเทคโนโลยีแห่งชาติของจีน เนื่องจากนักพัฒนามากมายอยากเข้ามาทำงานที่นี่ และมีนักพัฒนามากมายที่ได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาจากค่ายมือถือแห่งนี้ และออกไปพัฒนาสตาร์ตอัพของตนเอง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลคาดหวัง ทำให้เสิ่นเจิ้นและจีนเข้าใกล้การเป็นฮับไอทีระดับโลกมากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีมองว่า แม้หัวเว่ยจะตั้งเป้าหมายไกลถึงการขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ของโลก แต่ปัจจุบันตำแหน่งมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ของโลกของหัวเว่ยอาจยังไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อแอปเปิลออกไอโฟนตัวใหม่เดือนกันยายนนี้ ก็มีโอกาสที่จะกวาดมาร์เก็ตแชร์กลับคืนมาได้ง่าย ๆ ตอนนี้หัวเว่ยยังอยู่ “ระหว่างทาง” ที่จะขึ้นอันดับ 2 มาร์เก็ตแชร์สมาร์ทโฟนโลกอย่างยั่งยืน

แน่นอนว่าหากหัวเว่ยต้องการครองบัลลังก์ยอดขายอันดับ 2 ต่อเนื่อง ต้องหาทางบุกตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีดีมานด์สมาร์ทโฟนมากกว่ายุโรปถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐให้ได้

“หัวเว่ยต้องรุกหนักตลาดสหรัฐอเมริกา หากปราศจากตลาดสหรัฐในกำมือ มันยากมากที่จะรักษาอันดับและไปไกลกว่าอันดับ 2 ของโลก” เจีย โม นักวิเคราะห์จากคานาลิสต์ ระบุกับนิตยสารฟอร์บส และดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจุบันหัวเว่ยโดน ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” บล็อกปิดประตูทางเข้ามาทำตลาดแทบทั้งหมด แบนไม่ให้หัวเว่ยขายสมาร์ทโฟนกับผู้ให้บริการมือถือในสหรัฐ ทำให้เหลือเพียงการขายผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น โดยอ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศ และไม่ต้องการให้จีนแผ่อิทธิพลไปไกลเกิน

นี่จึงเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่สุดที่หัวเว่ยต้องเอาชนะให้ได้ “เคน ฮู” รองประธานหัวเว่ย ยอมรับว่าความท้าทายดังกล่าว ทำให้หัวเว่ยต้องทำงานหนักขึ้นในตลาดสหรัฐ มากกว่าทุก ๆ ตลาดโลกในตอนนี้