“นเรนทรา โมดี” ลั่น สร้างอินเดียยิ่งใหญ่ ปูพรมโปรเจ็กต์ใหม่ก่อนเลือกตั้ง

สุนทรพจน์ครั้งสำคัญของ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ในวันแห่งอิสรภาพ 72 ปี แฝงไปด้วยคำเชื้อเชิญเรียกความเชื่อมั่นก่อนการเลือกตั้งในปี 2019 ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์ยกเครื่องเต็มกำลังสูบด้านเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเป็นอยู่ของเกษตรกรและกลุ่มคนรากหญ้า อัดงบฯเพิ่มสวัสดิการด้านเฮลท์แคร์ และปักธงจะเป็นประเทศที่ 4 ที่ไปเยือนอวกาศภายในปี 2022

วันที่ 15 สิงหาคมรายงานจากทุกสื่อของอินเดีย กล่าวถึงสปีชของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ขณะที่ยืนกล่าวที่ป้อมปราการสีแดงเพื่อประกาศอิสรภาพแห่งอินเดียปีที่ 72 ระหว่างการกล่าววาทศิลป์ความยาวเกือบ 80 นาที ถือเป็นการทิ้งทวนการเป็นผู้นำประเทศที่ยอดเยี่ยม ก่อนจะหมดวาระการเป็นนายกรัฐมนตรีปีนี้ และเข้าสู่การเลือกตั้งในปีหน้า

นายกฯโมดีเริ่มต้นเล่าถึงความสำเร็จของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเรื่องหลัก ๆ ก็คือ “การปฏิรูประบบภาษี GST” หรือภาษีสินค้าและบริการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษี โดยก่อนหน้าจะมีการปฏิรูปภาษี การซื้อขายระหว่างรัฐทั้ง 29 รัฐ มีการเรียกเก็บภาษีหลายประเภท อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเข้ารัฐ (entry tax) ภาษีขายระหว่างรัฐ (central sale tax) และภาษีผ่านแดน (octroi tax) สร้างความสับสนให้กับนักลงทุน อีกทั้งยังเป็นการผลักภาระให้ค่าขนส่งแพงขึ้นเพราะนักลงทุนต้องเลือกใช้ขนส่งเส้นทางอื่น เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีระหว่างรัฐในอัตราที่สูง

นอกจากนั้น นายโมดีได้กล่าวถึงผลงานอื่น ๆ เช่น โครงการก่อสร้างที่ช่วยฟื้นระบบสาธารณูปโภคในอินเดียอาทิ การสร้างทางหลวง และรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้หลายหมู่บ้านในพื้นที่ชนบทได้มีไฟฟ้าใช้ และสนับสนุนด้านสุขาที่ถูกสุขลักษณะ

ทั้งนี้ ผู้นำอินเดียได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาล่าสุดของรัฐบาล โดยย้ำว่าอินเดียในฐานะที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 6 ของโลก การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศถือเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะของอินเดียบนเวทีโลก

โดยแผนแรกก็คือ การเพิ่มรายได้ให้กับภาคเกษตรกรภายในปี 2022รัฐบาลจะจัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า “Beej Se Bazar Tak” เป็นภาษาอินเดียหมายถึง “การค้าขายที่เข้าถึงทุกตลาด (ในประเทศและต่างประเทศ)” ซึ่งรวมถึงนโยบายที่ได้ประกาศใช้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ การกำหนดราคาขั้นต่ำของสินค้าเกษตรกรเพื่อพยุงให้สูงขึ้น(minimum support prices : MSPs)

ทั้งนี้ แผนการเพิ่มรายได้ใหม่นี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่โมดีย้ำหนักแน่นว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่ง

นอกจากนี้ แผนการที่ 2 นายกฯอินเดียพูดถึงการเปิดตัวโครงการประกันสุขภาพสำหรับคนยากจนราว 500 ล้านคนทั่วประเทศ ดยคาดว่าจะเปิดตัวในวันที่ 25 กันยายนนี้ ซึ่งชื่อว่า “Ayushman Bharat” หรือบางสื่อเรียกว่า “โมดีแคร์” จะครอบคลุมการรักษาโรคร้ายต่าง ๆ ปีละ 500,000 รูปีต่อคน (ราว 7,114 ดอลลาร์สหรัฐ)

อีกเป้าหมายที่สำคัญ คือ การผลักดันให้อินเดียเป็นประเทศที่ 4 ของโลกต่อจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ที่จะไปเยือนอวกาศได้ในปี 2022 ด้วยยาน “Gaganyaan” ซึ่งอยู่ในกระบวนการทดสอบ โดยระบุว่าการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดียเทียบเท่ากับหลาย ๆ ประเทศชั้นนำ

จากตัวอย่างความสำเร็จในปี 2014 ที่รัฐบาลอินเดียได้ส่งยานอวกาศ “Mangalyaan” ขึ้นไปโคจรรอบดาวอังคาร และในปี 2017 ที่องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) สามารถยิงจรวดปล่อยดาวเทียมพร้อมกัน104 ดวง ที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินศรีหริโคตา ทางใต้ของอินเดีย ทำลายสถิติโลกที่รัสเซียเคยยิงจรวดปล่อยดาวเทียมพร้อมกันที่ 37 ดวง

นักวิเคราะห์ด้านการเมืองของอินเดียระบุว่า วิสัยทัศน์ที่ประกาศในครั้งนี้เป็นการสร้างความหวังครั้งใหม่ และตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นการปูทาง

“หาเสียงก่อนเลือกตั้ง” ที่แนบเนียน ซึ่งแผนการพัฒนาประเทศใหม่นี้กลายเป็นการหยั่งเชิงคะแนนนิยมของนายโมดี สังเกตได้จากแต่ละแผนที่ถูกประกาศมานั้นยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นเพียงรูปธรรมกว้าง ๆ ซึ่งหากใครสนใจก็ต้องเลือกลงคะแนนเสียงให้เขาเป็นผู้ชนะในศึกเลือกตั้งอีกครั้ง

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสิงคโปร์ระบุว่า แผนการเยือนอวกาศของอินเดียไม่ใช่เรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ แต่ประเด็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและความเท่าเทียมเรื่องเพศยังเป็นกระแสที่ฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลมานาน โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่ยังสูง

เว็บไซต์อินเดียทูเดย์ได้รวบรวมความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อสะท้อนความนิยมของนายกฯโมดี พบว่าเสียงสะท้อนส่วนใหญ่จากกลุ่มผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวของอินเดียกังวลในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่รวมไปถึงเหตุการณ์ข่มขืนต่าง ๆ

ด้านผู้ประกอบการบางรายไม่พึงใจกับผลงานการปฏิรูปภาษีเพราะไม่เป็นธรรม เช่น เจ้าของร้านขายรองเท้าแห่งหนึ่งในรัฐปัญจาบ กล่าวว่า ระบบภาษีใหม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มเกษตรกรมากกว่า เพราะไม่ต้องเสียภาษีสูงเหมือนกับผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งที่รายรับอาจเท่ากัน โดยระบุว่าภาษีรองเท้าถูกปรับจาก 5% เป็น 12.5%

เช่นเดียวกับความเห็นของ นายวิคัส ลุคปาล เจ้าของร้านขายยาในกรุงนิวเดลีที่ย้ำว่า ระบบภาษีใหม่ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาหลายชนิดต้องจ่ายภาษีแพงขึ้นจาก 5% เป็น 12% อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องอัพเดตรายการสินค้าและอัตราภาษีทุก 3 เดือน เพราะระบบยังไม่เสถียร มีช่องโหว่ และต้องใช้เวลาในการปรับปรุงสร้างความเข้าใจกับคนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อย