เรียน ทำงาน เกษียณ? สังคมต้องเตรียมพร้อมอย่างไรเมื่อก้าวเข้าสู่วัย 100 ปี

เรียบเรียงจาก ซีเอ็นเอ็น

อะไรคือเคล็ดลับอายุยืน 100 ปี ? บางคนบอกว่าคำตอบนั้นคือ “การออกกำลังกาย” ขณะที่บางคนบอกว่า “อากาศที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ” แต่กับหลายๆ คนมองว่า “สุขภาวะทางเพศที่ดี” ต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญสู่อายุยืนนาน 100 ปี

“อายุ 100 ปี” อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนในยุคหนึ่ง แต่มาในยุคนี้ที่มีประชากรสูงวัย 100 ปีเพิ่มมากจนเกือบจะเป็นเรื่อง “ปกติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุ 100 ปี เป็นสัดส่วนสูงที่สุดในโลก

กระทรวงสาธารณะสุขของญี่ปุ่นประมานการณ์ประชากรชาวญี่ปุ่น 67,824 คนจะมีอายุ 100 ปีขึ้นไป ในปี 2017 ขณะที่เมื่อปี 1965 มีการบันทึกสถิติประชากรสูงวัยครั้งแรก โดยมีผู้สูงอายุ 100 ปี จำนวน 153 คน

แนวโน้มประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการออกนโยบายให้ความบันเทิงกับผู้สูงวัย 100 ปี

หลายปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้มีการจัดประชุมหลายต่อหลายครั้งถึงการประชุมเพื่อสังคมผู้สูงอายุ 100 ปี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คณะกรรมการวิเคราะห์ถึงประเด็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปนโยบายด้านความปลอดภัย หรือการจ้างงานผู้สูงอายุในองค์กรต่างๆ

 

ประชากรสูงวัยเพิ่ม สวนทางวัยแรงงานลดลง

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า 27 % ของประชากรญี่ปุ่น มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้น ในปี 1990 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ต่ำที่ 11 %

การมีชีวิตยืนยาวเป็นเรื่องดี ในทางกลับกัน รัฐบาลจะต้องแบกรับภาระที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการรัฐ เงินบำนาญ และการดูแลประชากรสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีอัตราเกิดต่ำ ทำให้แรงงานหนุ่มสาวจำนวนน้อยลง ส่งผลถึงภาษีที่ถูกนำบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุก็ลดลงไปด้วย

จำนวนเด็กแรกเกิดในญี่ปุ่นตกลงต่อเนื่องติดต่อกัน 37 ปี โดยกระทรวงสาธารณะสุขประเมินว่าประชากรในปี 2060 จะลดลงเหลือ 86.74 ล้านคน จากปปัจจุบัน 126.26 ล้านคน

แก่แล้ว…แต่ยังไม่หมดไฟ

“ลินดา เกร็ททัล” อาจารย์จาก London Business School หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมกับนายกฯ ชินโซ อาเบะ และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The 100-Year Life: Living and Working in an Age of Longevity” มองว่า สิ่งสำคัญของปัญหาคนสูงวัยคือรัฐบาลและภาคธุรกิจ ต้องมองว่าชีวิตคนมีหลายขั้นตอน มีทั้งการหยุดพักจากการทำงานและเริ่มทำงานได้ยาวนานและหลากหลายมากขึ้น เรื่องราวเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนสามารถพูดคุยเรื่องสังคมสูงวัยและเห็นภาพได้ดียิ่งขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี โดยชี้ว่าเป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ช่วยให้ได้เปิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ในสายงานเดิมตราบเท่าที่จะสามารถทำงานในปีต่อๆ ไปได้

“ฮิโรโกะ อากิยามะ” ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสูงอายุในมหาวิทยาลัยโตเกียว ระบุว่า การทำงานร่วมกัน รูปแบบงานที่ยืดหยุ่น และการสื่อสารจะช่วยให้คนอยู่ในที่ทำงานได้นานมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มงานที่ลดลงจากการใช้เอไอหรือหุ่นยนต์ทำงานแทนยังห่างไกล ทำให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้น ทดแทนเวลาและความสามารถจะเลือนหายไปตามอายุที่มากขึ้น

ส่องอนาคต ทั่วโลกมีแต่สูงวัย

รายงานประชากรสูงอายุจากสหประชาชาติระบุว่า ปี 2017 มีประชากรสูงวัยทั่วโลก (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 962 ล้านคน เพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อปี 1980 ซึ่งมีประชากรสูงวัยทั่วโลกประมาณ 382 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว อยู่ที่ประมาณ 2.1 พันล้านคน

รายงานดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า ประชากรสูงวัยจำนวนมากอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ สำนักสถิติแห่งชาติสหรัฐคาดการณ์ว่าประชากรสูงวัยสหรัฐจะขยายจำนวนจาก 86,248 คน ในปี 2017 สู่ 600,000 คนในปี 2060 ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกันในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

สหประชาชาติประมาณการณ์ประชากรสูงวัยในปี 2050 ว่า 35 % ของประชากรสูงวัยทั่วโลกจะอยู่ในยุโรป 28 % ในอเมริการเหนือ 25 % ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน 24 % ในเอเชีย และ 9 % ในแอฟริกา

ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสูงอายุในมหาวิทยาลัยโตเกียว มองว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตื่นตัวช้าสำหรับเรื่องการหาแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทนประชากรสูงวัยในประเทศ ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย

มองสูงวัยให้เป็นโอกาสทอง

แม้ญี่ปุ่นจะก้าวขาข้างหนึ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และยังดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่กระตือรือล้นกับการเตรียมพร้อมมากนัก แต่ในภาคธุรกิจก็ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจภายใต้ความท้าทายสังคมสูงวัยนี้

ธุรกิจในญี่ปุ่นเริ่มเปิดศูนย์ออกกำลังกายเพื่อดูแลผู้สูงวัย โดยมีการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์กับบ้านพักคนชรา ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสที่นำไปสู่การส่งออกและเม็ดเงินมหาศาล

อาจารย์จาก London Business School ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการพัฒนาหุ่นยนต์และเครื่องจักรเพื่อเป็นผู้ช่วยให้กับผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในประเทศ ทั้งนี้เธอกล่าวว่า ชีวิตที่มีเพียงเรียน ทำงาน และเกษียณ ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไปแล้ว ทั่วโลกจึงควรกลับมาทบทวนว่า ชีวิตในอนาคตควรจะเป็นเช่นไร

“คนต้องแอคทีฟมากขึ้น เพราะเมื่อมีการวางแผนที่ดี การออมเงินที่ดี และมีสุขภาพที่ดี ผู้คนก็จะเข้าใจว่าชีวิตควรจะเป็นเช่นไรต่อไปในอนาคต” ลินดา เกร็ททัล กล่าว และต่อว่า แทนที่จะมองว่ายิ่งโตมากขึ้นแล้วจะเปลี่ยนเป็นคนแก่ ซึ่งแก่แล้วแก่เลย… แต่ควรจะคิดว่าเป็นอายุที่มากขึ้นเป็นเพียงการใช้ชีวิตหนุ่มสาวที่ยาวนานมากขึ้นเท่านั้นเอง!