คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสูง ทำคนหลายร้อยล้านขาดสารอาหาร

AP

วารสารเนเจอร์ ไคลเมท เชนจ์ เผยแพร่ผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อข้าว ข้าวสาลี รวมถึงธัญพืชชนิดอื่นๆ ที่มีคุณค่าสารอาหารสูง จนอาจส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหารครั้งใหญ่ตามมา เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความเข้มข้นจะทำให้ปริมาณแร่ธาติ อาทิ เหล็ก สังกะสี ไปจนถึงโปรตีนในพืชต่างๆ ที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ลดลงไปได้ถึง 17 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางศตวรรษ

“ผู้คนหลายร้อยล้านคนในทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และตะวันออกลาง ต้องกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ที่ขาดหรือได้รับสารอาหารไม่พอเพียง นี่ยังไม่นับรวมถึงผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้วในปัจจุบันที่สภาพปัญหาจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก” แมทธิว สมิธ นักวิจัยหลักของงานชิ้นนี้ระบุ

โปรตีน เหล็ก และสังกะสี ถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ทั้งนี้หากขาดสังกะสีจะส่งผลกระทบกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำให้เด็กเปราะบางต่อการเป็นไข้มาเลเรีย ปอดติดเชื้อ และท้องเสียง่าย ขณะที่การขาดธาตุเหล็กจะทำให้อัตราการเสียชีวิคของมารดาขณะคลอดบุตรเพิ่มขึ้น เด็กมีไอคิวต่ำ และมีภาวะโลหิตจาง

ผลวิจัยคาดการณ์ว่าหากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันไปจนถึงปี 2593 ประชากรโลกอีก 2 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 175 ล้านคนจะขาดสังกะสี และอีก 122 ล้านคนจะไม่ได้รับโปรตีนเพียงพอ ขณะที่ 1.4 พันล้านคนจะได้รับแร่เหล็กน้อยลง 4 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า โดยเฉลี่ยมนุษย์ได้รับโปรตีน 3 ใน 5 เหล็ก 4 ใน 5 และสังกะสี 70 เปอร์เซ็นต์จากการบริโภคพืชชนิดต่างๆ

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์