บิ๊กเอเชียเร่งดัน “อาร์เซป” ภูมิภาคผนึกกำลังต่อกร “ทรัมป์”

REUTERS/Toru Hanai

การประชุมระดับรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ “อาร์เซป”(Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ครั้งที่ 6 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อ 30-31 ส.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 50 ส่อเค้าความเป็นเนื้อเป็นหนังมากขึ้น

หลายฝ่ายออกมาบอกตรงกันว่า ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นครั้งแรกที่ระดับรัฐมนตรี 16 ประเทศ สามารถตกลงกันในประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตได้สำเร็จ โดยสรุปออกมาเป็น 6 ประเด็นหลัก ทั้งเรื่องการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน การจัดทำข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

อาร์เซปถือเป็นข้อตกลงความร่วมมือที่จีนหนุนหลังอย่างหนัก เพราะมีผลเชิงบวกอย่างมากต่อยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศของจีนที่กำลังก่อร่างสร้างโครงการวันเบลต์วันโรด (OBOR) ทั้งนี้ ข้อตกลงอาร์เซปประกอบด้วยอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ บวกกับจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และเกาหลีใต้

ก่อนหน้านี้ หลายประเทศอาเซียนอกหักครั้งใหญ่ จากข้อตกลง “ทีพีพี” (Trans-Pacific Partnership : TPP) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่มี บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นหัวหอก และถูกล้มไปโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่วันแรก ๆ ของการรับตำแหน่ง

อาร์เซปกลายเป็นความหวังใหม่ของการค้าระดับภูมิภาค แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่คืบหน้าเท่าไหร่ ตลอด 1 ปีกว่า ๆ ที่ทรัมป์รับตำแหน่งผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งการประชุมครั้งล่าสุด โลกได้เห็นอะไรเป็นรูปธรรมจากอาร์เซปเสียที

“ชาน ชุน ซิง” รัฐมนตรีการพาณิชย์และอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้กล่าวภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า คณะกรรมการจะสรุปข้อตกลงสำคัญ ๆ อีกครั้ง ภายหลัง “ผู้นำ” แต่ละประเทศได้พบหน้ากันในการประชุมครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

ไม่ใช่แค่ทิศทางจาก “สิงคโปร์” ประธานกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้นที่ชัดเจนขึ้น อีกหนึ่งสัญญาณที่เปลี่ยนไปในครั้งนี้มาจากมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเช่นกัน โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สื่อญี่ปุ่นอย่าง “ซันเคอิ”

ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรี “ชินโซ อาเบะ” แห่งแดนอาทิตย์อุทัย ที่กล่าวว่า ณ ตอนนี้ ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและจีนกลับสู่ปกติแล้ว

ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของอาเบะระบุว่า “จากที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้เดินทางเยือนญี่ปุ่น เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา และความสัมพันธ์ของจีน-ญี่ปุ่นได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว”

หลังจากที่นโยบายปกป้องการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ แผลงฤทธิ์สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ญี่ปุ่นและจีนได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จีนโดนเล่นงานภาษีนำเข้าจากสหรัฐอย่างหนัก ขณะที่ญี่ปุ่นต้องเสียโอกาสครั้งใหญ่จากการที่สหรัฐประกาศถอนตัวจากข้อตกลงทีพีพี

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อาเบะแสดงความต้องการในการผลักดันอาร์เซประบุว่า “การก่อตัวของลัทธิกีดกันทางการค้าในระดับโลก ทำให้พวกเราเอเชียต้องผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว” และเมื่ออาเบะส่งสัญญาณอีกรอบไล่เลี่ยช่วงเวลาเดียวกันกับการประชุมระดับรัฐมนตรี อนุมานได้ว่า การผลักดันข้อตกลงอาร์เซปสำหรับญี่ปุ่น เป็นเรื่อง “จำเป็น” เช่นกัน

“หัว เจียนกัว” อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัย ภายใต้กระทรวงพาณิชย์จีน ให้สัมภาษณ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ว่าปัจจุบันจีนเองก็ร้อนใจเช่นกัน เพราะอยากให้อาร์เซปบรรลุเสียที เพื่อเป็นหนึ่งเครื่องมือที่จะใช้ต่อกรกับรัฐบาลวอชิงตันได้

“อาร์เซปใช้เวลานานกว่าที่จีนคิด ผมคิดว่ารัฐบาลจีนไม่น่าจะยอมให้อาร์เซปดีเลย์ไปอีกปีหนึ่งได้” พร้อมระบุว่า การผลักดันอาร์เซปต้องมีจีนและญี่ปุ่นเป็นผู้นำทางข้อตกลง ว่า ต้องการจะไปในทิศทางไหน ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 2 และ 3 ของโลกตามลำดับ

สอดคล้องกับ “เจียง รุ่ยผิง” ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษา จากมหาวิทยาลัยด้านการต่างประเทศของจีน ที่มองว่า ญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนไหวกับอาร์เซปมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นผู้ตามในข้อตกลงอาร์เซป แต่ตอนนี้จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นแอ็กทีฟในข้อตกลงเพิ่มขึ้นเยอะมาก” เจียงกล่าว

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิเคราะห์มองร่วมกันว่า เมื่อญี่ปุ่นเห็นด้วยกับจีน การผลักดันอาร์เซป หรือข้อตกลงการค้าจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะทั้ง 2 ประเทศต่างมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

และจะดีที่สุด คือ ดึง “อินเดีย” ให้เห็นด้วยในแนวทางเดียวกันให้ได้ เพราะอินเดียถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่โตเร็วที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน และจะกลายเป็นโมเมนตัมหลักทางการค้าของโลกในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันอินเดียค่อนข้างเห็น “ค้าน” กับประเทศอื่นในการเปิดเสรี เพราะขณะที่ญี่ปุ่นเรียกร้องให้อาร์เซปเปิดเสรีระดับสูง แต่อินเดียยังไม่ต้องการไปถึงจุดนั้น

การบรรลุข้อตกลงแบบเห็นพ้องกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนั่นหมายถึงอนาคตการค้าของทุกประเทศ และอนาคตของ “เอเชีย” ด้วยเช่นกัน