“ชาติผลิตน้ำมัน” ดิ้นเอาตัวรอด! หันซบ “เซ็กเตอร์” อื่นต่อลมหายใจ

วิกฤตราคาน้ำมันโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวแม้ว่าส่งสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันวางใจได้ และต้องพยายามปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากสภาวะดีมานด์น้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง

บีบีซี รายงานความเคลื่อนไหวประเทศ “ซาอุดีอาระเบีย” ที่เพิ่งเปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวครั้งใหญ่ ด้วยแผนสร้างรีสอร์ตหรูบนเกาะกว่า 50 เกาะ ภายใต้ชื่อ “โปรเจ็กต์ทะเลแดง” เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เปลี่ยนการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันดิบไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกทั้งยังปรับเงื่อนไขการขอวีซ่า เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวได้ง่ายขึ้น

โครงการรีสอร์ตดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2019 โดยเฟสแรกจะสร้างสนามบินแห่งใหม่ รวมไปถึงโรงแรมและบ้านพักหรู คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2022

ขณะที่ “บรูไน” ปีที่ผ่านมาก็ผลักดัน”การท่องเที่ยวเชิงมุสลิม” ให้เป็นหนึ่งธุรกิจสร้างรายได้ทดแทนการส่งออกน้ำมัน

โดยมีเป้าหมายทำให้บรูไนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนมุสลิม โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอน และเป็นจุดแวะพักที่ดีที่สุดในช่วงการแสวงบุญที่นครเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยคาดหวังจะกอบโกยรายได้จากภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

แต่ล่าสุด นายโมฮัมเหม็ด ยาสมิน บินฮาจิ อูมาร์ รัฐมนตรีพลังงาน ให้สัมภาษณ์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ ว่า ถึงอย่างไรบรูไนก็ยังต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก แม้จะพยายามปรับยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับภาคท่องเที่ยวมากขึ้น แต่เป้าหมายของจำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ดังนั้นบรูไนจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตน้ำมัน โดยอาจเพิ่มจาก 400,000 บาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน เป็น 600,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2035 ซึ่งบรูไนมีศักยภาพที่ผลิตน้ำมันได้สูงสุดถึง 800,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจุบันบรูไนอนุมัติแผนสำรวจน้ำมันในพื้นที่ใหม่ ทั้งยังกำลังศึกษาโครงการท่อส่งน้ำมันในพื้นที่ใหม่ ๆ แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคท้าทายทั้งราคาน้ำมันโลก ข้อพิพาทในเขตแดนทางทะเลและข้อจำกัดด้านการส่งออกตามเงื่อนไขของ OPEC

ขณะที่เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังสนใจ “รถยนต์ไฟฟ้า” นับว่าเป็นความท้าทายใหม่ ดังนั้นรัฐบาลสุลต่านจึงพยายามที่จะเสนอข้อเรียกร้องสมาชิก OPEC ในการประชุมครั้งหน้า เกี่ยวกับการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เชื่อว่าสมาชิกทั้ง OPEC และ Non-OPEC ต่างกำลังตกอยู่ในภาวะล้มทั้งยืนไม่ต่างกัน

บลูมเบิร์ก รายงานว่า การปฏิวัติด้านรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่แนวโน้มราคาแบตเตอรี่รถยนต์ที่จะลดลง จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลในเกือบทุกประเทศ แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงก็ตาม

รายงานข่าวระบุว่า ในปี 2040 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนจะมีประมาณ 1 ใน 4 ของรถยนต์ทั้งหมด จะสามารถลดการใช้น้ำมันดิบลงได้ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่ทั้งโลกใช้น้ำมันดิบเฉลี่ยวันละ 95 ล้านบาร์เรล จะหันไปใช้ไฟฟ้าแทน ซึ่งไฟฟ้าก็สามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันหรือพลังงานฟอสซิล

ข้อวิตกมากมายดูเหมือนจะตามหลอกหลอนประเทศผู้ผลิตน้ำมันไปเรื่อย ๆ ยิ่งหากบางประเทศไม่สามารถหาทางรอดหวังพึ่งกับอุตสาหกรรมอื่นทดแทนได้

รัฐมนตรีพลังงานบรูไนย้ำว่า “จากทศวรรษเดิมที่เคยยกย่องให้ประเทศใดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมัน เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด ทว่าทศวรรษใหม่โอกาสจะเป็นของประเทศที่ผลิตและโดดเด่นเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแทน โดยเฉพาะประเทศที่อุดมไปด้วยนวัตกรรมทันสมัย”