เจาะตลาด “ตุรกี” ประตูสู่ยุโรป “โอกาส” บน “ความเสี่ยง”

พูดถึง “ตุรกี” เวลานี้ทุกคนอาจจะผวา เพราะถือเป็นหนึ่งในประเทศกำลังเผชิญวิกฤตค่าเงิน ซึ่งเงินลีราของตุรกีร่วงลงถึง 40% นับจากต้นปี หลังถูกสหรัฐเล่นงานขึ้นภาษีสินค้านำเข้าอีกเท่าตัว ทำให้ประเทศคู่ค้าทั้งหลายปั่นปวนไปตาม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม “ตุรกี” ได้ชื่อว่าเป็นประเทศปลายทางการท่องเที่ยวที่ชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักและอยากไป ขณะที่การค้าการลงทุนระหว่างไทยและตุรกียังมีอยู่น้อยมาก โดยช่วงปี 2010-2018 คนไทยเข้าไปลงทุนในตุรกีสะสมเพียง 153 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ในงานจับคู่ธุรกิจเอสเอ็มอีระหว่างนักธุรกิจไทยและตุรกี ครั้งที่ 3 และงานสัมมนา “Exploring Business Opportunities in Thailand and Turkey” เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ณ กรุงเทพมหานคร “อาเหม็ด อัมรี บูยูคิริก” ตัวแทนจากหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตุรกี สำนักงานสิงคโปร์ กล่าวถึงเทรนด์ด้านการค้าและการลงทุนในตุรกีหลายด้าน รวมถึงโอกาสการค้าและการลงทุนของ 2 ประเทศ

“ตุรกี” ประตูสู่ยุโรป

“เมื่อปีที่แล้ว เรามีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติเข้าประเทศถึง 10,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ความน่าสนใจของตุรกี คือ เรื่องของภูมิศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเอเชียและยุโรปพอดี และมีประชากรหนุ่มสาวจำนวนมาก” อาเหม็ดกล่าวและว่าตุรกีถือเป็นประตูสู่ “ยุโรป” นอกจากมีภูมิยุทธศาสตร์ที่ดีแล้ว ตุรกียังมีอุตสาหกรรมหนักครบวงจรในประเทศ และส่งออกไปยังยุโรปจำนวนมาก อย่างอุตฯยานยนต์ก็ถือเป็นแหล่งผลิตอันดับ 2 ที่ส่งเข้าไปในสหภาพยุโรป (อียู)

นอกจากนี้ ตุรกียังติดกับชายแดนของตะวันออกกลาง และเป็นผู้ผลิตสินค้าหลักส่งไปยังประเทศซีเรีย อิรัก ทำให้การทำธุรกิจในตุรกี นอกจากจะสามารถส่งออกโดยเสียภาษี 0% ไปตลาดเดียวอียู ซึ่งมีประชากร 750 ล้านคนแล้ว ยังเข้าถึงประชากรในตะวันออกกลางอีกกว่า 250 ล้านคนด้วย

“นิวัฒน์ หาญสวัสดิ์” อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) สถานทูตไทยประจำกรุงอังการา กล่าวเสริมว่า ไทยสามารถใช้ตุรกีเป็นประเทศนายหน้าในการทำการค้ากับหลายประเทศได้ เพราะตุรกีอยู่บนแผนที่ที่ได้เปรียบประเทศอื่นมาก ๆ นอกจากยุโรปและตะวันออกกกลางแล้ว ตุรกียังมีเส้นทางเชื่อมไปยังแอฟริกาได้ด้วย

“ชาวตุรกีเป็นเทรดเดอร์ ค้าขายเก่ง ผมมองว่าปัจจุบันในตลาดเอสเอ็มอีนั้นคู่แข่งเยอะ การตีตลาดที่คนอื่นไม่ค่อยมองเป็นโอกาสที่ดี และปัจจุบันไทยและตุรกีกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กันอยู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก”

วัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน

ขณะที่ “เออร์ดี้ เออร์” ผู้อำนวยการการผลิตของ Tugba Dairy Farm จากตุรกี คู่ค้าของบริษัท Perfecta ประเทศไทย เสริมถึงข้อดีของการทำธุรกิจระหว่างไทยและตุรกีว่า หลาย ๆคนอาจมองว่าชาวไทยและชาวตุรกีมีความแตกต่างกันมากในด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ศาสนา และวัฒนธรรม แต่จากประสบการณ์ของตนมองว่าประเทศไทยและตุรกี มีขนบธรรมเนียมที่ไม่ต่างจากกันนัก

เออร์ดี้ยกตัวอย่างประเด็นเล็ก ๆ ว่า ชาวไทยและชาวตุรกีให้ความสำคัญต่อผู้สูงวัยและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างนอบน้อม เช่น หากมีการเสิร์ฟอาหาร ก็จะให้เสิร์ฟให้ผู้อาวุโสกว่าก่อนเสมอ รวมไปถึงวัฒนธรรมการถอดรองเท้าเมื่อเข้าไปในอาคาร หรือบ้านเรือน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศปฏิบัติจนเป็นนิสัยประจำวัน

โอกาสบนความเสี่ยง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ชวลิต พฤกษานุบาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ็ม.ไอ.ซัพพลายส์ ผู้นำเข้าสินค้าจากตุรกีมากว่า 30 ปี กล่าวว่า “สินค้าที่เรานำเข้าคืออุปกรณ์สำหรับผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ในตุรกีมีหลายบริษัทที่ทำสินค้านี้และเป็นฐานผลิตให้กับโซนยุโรป สินค้าที่เรานำเข้าค่อนข้างเฉพาะทาง ซึ่งมีไม่กี่บริษัททั่วโลกผลิต และข้อดีของตุรกี คือ ประเทศที่มีโนว์ฮาวจากฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่มีอัตราค่าแรงที่แข่งขันได้”

ต่อถึงเรื่องวิกฤตค่าเงินที่ตุรกีกำลังเผชิญ ชวลิตระบุว่า ในฐานะคู่ค้า ตนยังไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการค้าขายก็ใช้อัตราแลกเปลี่ยนยูโรและยูเอสดอลลาร์ แต่แน่นอนว่า “ผู้นำเข้า” ในตุรกี น่าจะปวดหัวหนักกับปัญหาดังกล่าว เพราะค่าเงินตุรกีลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากต้นปี นอกจากนี้ ประชาชนก็ต้องเผชิญกับค่าครองชีพราคาสูงขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและผู้ค้าที่สนใจตลาดตุรกี ชวลิตทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันตนมองว่าอุตสาหกรรมหนักของตุรกีค่อนข้างมีตลาดที่สมบูรณ์แล้ว แต่สำหรับคนไทยยังมีโอกาสในด้านการ “บริโภค” เช่น อาหารแปรรูป คอสเมติก และสปา ซึ่งตราฮาลาลของประเทศไทยค่อนข้างได้รับการยอมรับ