เกิดอะไรขึ้นที่ “อาร์เจนตินา”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เศรษฐกิจแข็งแกร่งมากประเทศหนึ่งของโลก กำลังยื่นขอความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อีกครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งยังเป็นการขอความช่วยเหลือแบบ “เร่งด่วนพิเศษ”

มอริซิโอ มาครี ประธานาธิบดีอาร์เจนตินายอมรับว่า แค่ไอเอ็มเอฟตกลงที่จะช่วยเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการยับยั้งค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาได้ ต้องปล่อยเงินงวดแรกออกมาให้เร็วที่สุดจึงจะบรรเทาสถานการณ์ได้

จากต้นปีจนถึงวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา เงินเปโซอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ถึง 52.4 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงว่า ใครที่ถือเงินสด ๆ อยู่ในมือ 100 เปโซ มาตั้งแต่ต้นปี หากนำไปแลกเป็นดอลลาร์จะหลงเหลือมูลค่าเพียงไม่ถึงครึ่งของมูลค่าเดิม

ถ้าการไหลลงของค่าเงินยังไม่ยุติ ระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศก็จะถึงกาลล่มสลาย นั่นคือที่มาของการขอกู้เงินฉุกเฉินเป็นมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลายเป็นที่มาของการประท้วง ต่อต้านตั้งแต่ต้นมือ ด้วยเหตุที่ว่า ไอเอ็มเอฟ ในความคิดของชาวอาร์เจนตินานั้น ไม่ต่างอะไรกับ “เจ้านายหน้าเลือด” ยังไงยังงั้น

จนถึงเวลานี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่า เงื่อนไขที่อาร์เจนตินาต้องแบกรับแลกกับความช่วยเหลือนั้นหนักหนาสาหัสขนาดไหน และจะส่งผลสามารถดึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศนี้ได้เมื่อใด

แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในอนาคตอันใกล้ไม่น่าชื่นชมยินดีนัก ภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ไม่ว่ารัฐบาลจะเร่งมือปฏิรูปตามแนวทางไอเอ็มเอฟรวดเร็วแค่ไหนก็ตามที

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ ทำไมจู่ ๆ อาร์เจนตินาที่เคยได้รับการต้อนรับด้วยดีจากตลาดเงิน ตลาดทุน ในฐานะเป็น “ความหวังใหม่” เมื่อปี 2015 กลับนำประเทศสู่วิกฤตอีกครั้ง

การอ่อนตัวของค่าเงินเปโซเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของชาติเศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สืบเนื่องจากกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง กระตุ้นให้นักลงทุนหันมาแลกดอลลาร์เพื่อไปลงทุนมากขึ้น

ปัญหาก็คือ ค่าเงินเปโซร่วงลงต่อเนื่องมากที่สุด ซึ่งไม่เพียงสะท้อนถึงทิศทางปกติเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงการที่นักลงทุนตัดสินใจเลิกลงทุนในรูปของเงินเปโซในอาร์เจนตินา แลกเป็นเงินดอลลาร์หอบกลับประเทศ เพราะขาดความเชื่อมั่น และกังวลว่า ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลคงไม่สามารถ “ชำระหนี้” ที่ถึงกำหนดชำระได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ รัฐบาลอาจไม่มีเงินงบประมาณใช้ หากไม่มีการกู้ยืมระลอกใหม่

ตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ประธานาธิบดีมาครีพบว่ารัฐบาลขาดดุลงบประมาณมหาศาลมาก หมายความว่า รายจ่ายของรัฐบาลมีมากเกินกว่ารายรับ

แต่ปัญหาก็คือหากจำกัดเข้มงวดการใช้จ่ายในทันทีจะเกิดปัญหากับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงเลือกวิธีแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” แทน

ปัญหาก็คือ การขาดดุลงบประมาณ ไม่ใช่ปัญหาอย่างเดียวของรัฐบาลอาร์เจนตินา เพราะในเวลาเดียวกันนั้น อาร์เจนตินาก็ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในที่สุดก็ต้องชดเชยโดยการหาเงินกู้มาโปะ ยิ่งนับวันยิ่งจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการกู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งและท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากจนถึงระดับที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความเสี่ยงว่าบรรดานักลงทุนจะพากันดึงเงินลงทุนกลับ

ในเวลาเดียวกัน อาร์เจนตินายังมีปัญหาเรื้อรังอยู่อย่างต่อเนื่อง นั่นคือปัญหาเงินเฟ้อ ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของอาร์เจนตินาอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนี่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดของโลก

ในขณะที่การขยายตัวของจีดีพีของประเทศกลับสะวิงขึ้น ๆ ลง ๆ สลับกันระหว่างการขยายตัวเล็กน้อยกับการขยายตัวแบบติดลบมาตลอดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้อนาคตชวนให้หดหู่มากกว่าอื่นใด

เมื่อค่าเงินเปโซเริ่มอ่อนค่าลง รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หวังที่จะดึงเม็ดเงินกลับมา รองรับอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ และฉุดให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นไปได้

แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อความเชื่อมั่นไม่กลับคืนมา ไม่ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าใดก็ไม่มีผล อัตราดอกเบี้ยของอาร์เจนตินาเวลานี้อยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

วิกฤตอาร์เจนตินาหนักหน่วงมากขึ้นทุกทีจนต้องพึ่งพาไอเอ็มเอฟ ในที่สุด ถึงตอนนี้สิ่งที่หลายคนภาวนาก็คือ ขอให้วิกฤตอาร์เจนตินาจำกัดอยู่แค่ที่อาร์เจนตินา อย่าลุกลามออกมาสู่เอเชียก็แล้วกัน