ถอดรหัส “ไชน่า 5.0” การรวมศูนย์สู่มหาอำนาจโลก

เรื่องการพัฒนาของประเทศจีน แม้จะพูดถึงบ่อย แต่จะไม่พูดถึงก็ไม่ได้ เพราะแดนมังกรก็มักจะมีเรื่องใหม่เกิดขึ้น มีผลต่อความเป็นไปของโลกไม่น้อย งานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “China5.0 : เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และกฎหมายในจีนยุคใหม่” ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา นักวิชาการและผู้ติดตามสังคมจีน ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนอนาคตของจีนต่อจากนี้ในหลากมิติ โดยเฉพาะ “ระบบการเมืองแบบสังคมนิยมจีน” ที่เข้มแข็งจะนำจีนรุ่งหรือร่วง ?

นิยาม “จีน 5.0”

“จีนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่แกนกลาง (core) ไม่ได้เปลี่ยน แม้เราอาจคาดหวังให้เปลี่ยนแปลง การเมืองก็ยังพรรคเดียว เศรษฐกิจก็เป็นกลไกรัฐกำกับทุน” อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ และผู้เขียนหนังสือ “China 5.0” เปิดสนทนาอย่างเห็นภาพ

อาจารย์อาร์มอธิบาย “จีน 5.0” จากการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นยุคที่ทั่วโลกคาดหวังให้สีเปลี่ยนการเมืองจีนเป็นเสรีนิยมมากขึ้น แต่เขากลับรวบอำนาจ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานาธิบดีไม่มีวาระ เพื่อความต่อเนื่องทางการเมืองเพราะเป็นยุคที่จีนต้องเดินหน้าอย่างเร็วที่สุดเพื่อการเป็นผู้นำโลก ปัจจุบันเป็น “ยุคใหม่” ที่เน้นการบริโภคและนวัตกรรม จีนจึงหนุนการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สูงมาก จากฐานความคิดที่ว่า

เอไอคือตัวชี้วัดอนาคตจีน

“สี จิ้นผิงเคยกล่าวว่า ตอนนี้จีนเผชิญความขัดแย้งใหม่ จากแต่ก่อนมีความต้องการบริโภคนิยมแต่มีกำลังผลิตน้อย แต่ปัจจุบันจีนผลิตเกินตัว ความขัดแย้งใหม่คือประชาชนต้องการบริโภคของมีคุณภาพ จึงต้องเร่งพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ และนวัตกรรม” เพื่อก้าวขึ้นเป็นประเทศ “สังคมนิยมมหาอำนาจสมัยใหม่” ตามเป้าภายในปี 2049 ให้ได้

สี จิ้นผิง = จักรพรรดิ

ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมถึงการรวมอำนาจของสี จิ้น ผิงว่า “การจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในปี 2049 จีนจำเป็นต้องมีอำนาจอธิปไตยอันสมบูรณ์”

ในระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จีน อำนาจสูงสุดถูกรวมที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ขณะที่ “กองทัพ” จะถูกแยกการปกครองออกมา และตามทฤษฎี อำนาจของพรรคต้องใหญ่กว่ากองทัพ

อย่างไรก็ตาม ผศ.วรศักดิ์มองว่า สี จิ้นผิง ได้รับการยอมรับจากทั้งพรรคและกองทัพแล้ว ซึ่งก็คือตำแหน่งเดียวกับจักรพรรดิในอดีต หากถามประชาชนในประเทศรู้สึกอย่างไรกับการครองอำนาจตลอดกาลนี้ ก็ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ซับซ้อน

“ประชาชนเขาอยากได้ไหมเสรีภาพ เขาก็ต้องการ แต่เงื่อนปมที่มีเสรีภาพทางการเมือง แต่เศรษฐกิจตกต่ำ จะทำยังไง? ดังนั้นถ้ามีผู้นำเผด็จการแต่เศรษฐกิจดี เขาก็พอรับได้”

“การเมือง” นำเศรษฐกิจจีน

ระบบเศรษฐกิจจีน ไม่ว่าจะภาครัฐ มณฑล รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ต่างวางนโยบายการดำเนินอ้างอิงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้งสิ้น ประเด็นดังกล่าว มาณพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายพัฒนาธุรกิจจีน ธุรกิจต่างประเทศ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ว่า ระบบการเมืองที่เข้มแข็งของจีน คือกุญแจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนโตเร็วและมีเอกภาพ สามารถปรับโครงสร้างจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สู่การบริโภคในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา

“ในระบบการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะมีผู้ว่าการนั่งฝ่ายบริหารแล้ว เหนือกว่านั้นคือเลขาธิการพรรค จะส่งตัวแทนของพรรคลงมาดูแลตามท้องถิ่นด้วย นี่ทำให้นโยบายพรรคแทรกซึมเข้าไปสู่ทุกหัวระแหงของเศรษฐกิจจีนอย่างไม่น่าเชื่อ”

อนาคตหัวหอกนวัตกรรม

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตา คือการพัฒนาด้านนวัตกรรม ที่ปัจจุบันจีนถือเป็นผู้นำเทคโนโลยีคนสำคัญของโลกอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ กูรูด้านไอทีจากเว็บไซต์ Blognone ตีแผ่ 3 ปัจจัยที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนเติบโตฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะ 3 ยักษ์ “BAT” Baidu-Alibaba-Tencent คือ 1.ระบบการเมืองจีน ที่พรรคนำการบริหารและมีการควบคุมข้อมูล เซ็นเซอร์ ทำให้บริษัทตะวันตกอยู่ไม่ได้ และบริษัทเทคฯจีนเติบโตโดยหาโอกาสจากตลาดในประเทศที่มีประชากรกว่า 1 พันล้านคนล้วน ๆ

2. ทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนหน้านี้จีนไม่มีการคุ้มครองเลย จึงเห็นบริษัทจีนเลียนแบบต่างชาติเยอะมาก ไม่ว่ามือถือ หรือหน้าเว็บไซต์ แต่ปัจจุบันบริษัทจีนพัฒนาเทคโนโลยีของตนมากขึ้น

3.เด็กหัวกะทิที่ไปเรียนเมืองนอก คนกลุ่มนี้คือนักศึกษาระดับท็อปที่มีโอกาสได้ร่ำเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และตระหนักว่าการกลับมาหาโอกาสในบ้านเกิดจะสร้างความร่ำรวยให้พวกเขามากกว่า ตรงนี้ทำให้จีนมีโนว์ฮาวจากต่างประเทศ

ขณะที่มีคำวิพากษ์ว่า เทคโนโลยีจะบังคับให้จีนเปิดเสรีในที่สุด แต่ “อิสริยะ” มองว่า เทคโนโลยี 5.0 ยังยากที่จะเปลี่ยนระบบการเมืองจีนได้ พิสูจน์จากกรณีล่าสุดที่บริษัทเทนเซนต์ราคาหุ้นตก เพราะรัฐบาลแบนเกมที่บริษัทให้บริการและได้รับความนิยมแพร่หลาย

“รัฐบาลไม่น่ายอมให้บริษัทเทคฯมีอำนาจเป็นของตัวเอง ในระยะยาวจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอไอรายใหญ่แค่ไหน ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดก็คือรัฐบาลจีน”