“กูเกิล”ยันยังให้แอปฯเสริมเข้าถึง “Gmail” 1.4 พันล้านแอคเคานต์ แต่มีการตรวจสอบแน่นหนา

กูเกิล ร่อนแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ปกป้องนโยบายบริษัทที่ยังยอมให้บริษัทบุคคลที่ 3 เข้าถึงและแชร์ข้อมูลจากแอคเคานต์ของอีเมล “จีเมล” (Gmail) ออกไป โดยระบุว่า กลุ่มบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นบรรดานักพัฒนา สามารถที่จะแชร์ข้อมูลผู้ใช้งานออกไปได้ตราบใดที่มีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจนว่านำข้อมูลออกไปทำอะไร

จีเมล ซึ่งมีผู้ใช้งาน 1.4 พันล้านคนทั่วโลก ได้ถูกดึงข้อมูลออกไปใช้งานโดยเหล่านักพัฒนา โดยบริษัทแม่กูเกิลออกมาปกป้องตนเองว่า ได้ขึ้นนโยบายความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้ใช้งานก่อนที่พวกเขาจะเข้าถึงแพลตฟอร์มจีเมลแล้ว โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะไม่ให้มีการเข้าถึง หรือเลือกที่จะไม่ใช้งานเลยก็ได้

ในแถลงการณ์บอกด้วยว่า ทางกูเกิลมีกระบวนการตรวจสอบแอพลิเคชั่นที่เข้าถึงอีเมลและข้อมูลโดยไม่ถูกต้อง เช่นแอพฯที่ไม่แสดงตัวตน หรือแอพฯที่ไม่เปิดเผยว่านำข้อมูลผู้ใช้งานไปใช้อย่างไร ทางกูเกิลได้ลบแอพฯเหล่านั้นทิ้งไปแล้ว แต่ก็ยังเกิดข้อกังขาในสังคมว่ามีกี่แอพฯที่ถูกลบไป

ประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาในช่วงที่รัฐบาลกำลังเร่งตรวจสอบบรรดาบริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัว โดยวุฒิสภาเตรียมสอบทั้งอะเมซอน แอปเปิล เอทีแอนด์ที ชาร์เตอร์คอมมูนิเคชัน และทวิตเตอร์ ในวันที่ 26 ก.ย. นี้ เกี่ยวกับกระบวนการปกป้องข้อมูลผู้บริโภค

เมื่อกรกฎาคม เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานข่าวว่ากูเกิลได้แสกนอีเมลนับร้อยล้านฉบับ เพื่อดูว่ามีผู้ใช้งานกี่รายที่สมัครบริการเสริมอื่นๆ บนอีเมล (email-based services) ไว้บ้าง เช่น บริการตัวช่วยจัดการการเดินทาง

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว กูเกิลเพิ่งยกเลิกการแสกนอ่านอีเมลเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดหรือการโฆษณาไป โดยซูซาน โมลินารี รองประธานกลุ่มนโยบายสาธารณะและรัฐบาล จากกูเกิลอเมริกา ได้กล่าวในแถลงการณ์ที่แถลงถึงวุฒิสภาเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วยว่า ไม่มีพนักงานที่เป็นมนุษย์คนใดที่ได้อ่านอีเมลของผู้ใช้งาน นอกจากเป็นอีเมลที่เป็นเคสเฉพาะเจาะจงจริงๆ  ที่มีการร้องขอจากผู้ใช้งาน หรือในกรณีที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคง เช่นการสืบสวนการทำร้ายร่างกาย เป็นต้น