แอร์ไลน์แข่งรูต “ข้ามโลก” “โบอิ้ง-แอร์บัส” ส่งรุ่นใหม่ลุย

อลัน จอยซ์ ซีอีโอสายการบินแควนตัส ย้ำความเป็นไปได้กับ “บีบีซี” อีกครั้งเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า ทางสายการบินมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเปิดเที่ยวบิน ลอนดอน-ซิดนีย์ 9,600 ไมล์ ที่ใช้เวลาเดินทาง 20 ชั่วโมงให้เกิดขึ้นจริง หลังจากที่แควนตัสประกาศโปรเจ็กต์นี้ไปเมื่อปีก่อน

ไม่ใช่แค่แควนตัสเท่านั้นที่วางเดิมพันกับเที่ยวบินระยะไกล แม้แต่ “สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส” ก็เตรียมจะเปิดเที่ยวบินเกือบ 19 ชั่วโมง สิงคโปร์-นิวเจอร์ซีย์ รวมทั้ง “กาตาร์ แอร์เวย์ส” ก็เตรียมเปิดรูต 17.5 ชั่วโมง โอกแลนด์-โดฮา เช่นกัน นับเป็นกว่าทศวรรษที่คนในอุตสาหกรรมการบินพยายามเชื่อมต่อโลกสองฝั่งให้ได้ด้วยไฟลต์บินเดียวโดยไม่ต้องแวะเต็มน้ำมัน นับว่าเกือบจะทำได้สำเร็จแล้ว

แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าไม่คุ้มในเชิงเศรษฐกิจก็ตามแต่ ทว่าหลายสายการบินมองเห็นโอกาสในเส้นทางนี้ เนื่องจากความต้องการการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ทั้งทางธุรกิจและการท่องเที่ยว โดยเส้นทางบินระยะยาวนี้ส่วนใหญ่มุ่งเจาะกลุ่ม ผู้โดยสารบิสซิเนสคลาส เฟิรสต์คลาส และพรีเมี่ยมอีโคโนมีทั้งสิ้น

“ผู้โดยสารบิสซิเนสคลาส และผู้โดยสารที่มีจุดมุ่งหมายการเดินทางเพื่อพักผ่อน พวกเขายินดีกับไฟลต์บินตรงโดยไม่หยุดพัก เพื่อที่จะประหยัดเวลาในการเดินทาง” อลัน จอยซ์ บอกเหตุผลพร้อมอ้างถึงไฟลต์บินตรงลอนดอน-เพิร์ท 17 ชั่วโมง ที่เพิ่งเปิดเส้นทางไปเมื่อมีนาคมที่ผ่านมาว่ามียอดบุ๊กกิ้งเกือบเต็มโดยตลอด โดยชั้นบิสซิเนสมียอดจอง 94% ของที่นั่งทั้งหมด ขณะที่โดยรวมที่นั่งถูกจับจองเต็มถึง 92% ตั้งแต่เปิดเส้นทาง

สำหรับแควนตัสแอร์ไลน์เล็งจะเริ่มเปิดรูตเที่ยวบิน “ลอนดอน-ซิดนีย์” ภายในปี 2022 แต่อุปสรรคสำคัญนอกจากในเรื่องความคุ้มค่าทางธุรกิจและความสะดวกสบายของผู้โดยสารก็คือ การหาเครื่องบินที่มีศักยภาพที่จะบินไกลขนาดนั้นได้ ซึ่งจอยซ์เผยว่า เขาคุยกับทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง 2 ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลกถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว แต่ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องบินลำใดบนโลกการันตีได้ว่าจะทำได้ขนาดนั้น

ปัจจุบันเที่ยวบินระยะไกลใช้เครื่องบิน 2 รุ่น จาก 2 ค่าย โดยสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ใช้เครื่องแอร์บัส A350-900 ULR (ultra-long-haul) บินสิงคโปร์-นิวยอร์ก ระยะทาง 8,283 ไมล์ โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวถูกปรับแต่งให้เหมาะสมกับรูตทางไกลและบินได้สูงสุด 9,700 ไมล์ 20 ชั่วโมง ด้วยน้ำมัน 24,000 ลิตร เที่ยวบินนี้ของสิงคโปร์ แอร์ไลน์สไม่มีที่นั่งอีโคโนมี คลาสเลย และมีเก้าอี้เพียง 161 ที่เพื่อลดภาระการแบกน้ำหนักทำให้บินได้ระยะทางไกลขึ้น

ส่วนโบอิ้งก็กำลังพัฒนาเครื่องบินมาแข่งกับแอร์บัส คือ โบอิ้ง รุ่น 777-8 ซึ่งเป็นรุ่นที่แควนตัสก็ให้ความสนใจพอ ๆ กับของแอร์บัส ซึ่งนอกจากจะเป็นการแข่งขันของสายการบินในด้านตัวเลขชั่วโมงบินแล้ว ยังถือเป็นการแข่งขันของผู้ผลิตเครื่องบินในด้านศักยภาพด้วยเช่นกัน

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมการบินโลกเหมือนจะแข่งขันชิงชัยในเชิงสัญลักษณ์เลขไมล์เสียมากกว่าในเชิงกายภาพ แต่ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ถ้าค่ายไหนทำได้ก่อนก็น่าจะได้เครดิตที่ดี

ย้อนกลับไปปี 1947 เป็นปีแรกที่แควนตัสแอร์ไลน์ให้บริการไฟลต์บินแรกจากซิดนีย์ถึงลอนดอน ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 29 คน และลูกเรือ 11 คน การบินครั้งนั้นหยุดพัก กรุงดาร์วิน, สิงคโปร์, กัลกัตตา, คาราชิ, ไคโร และตริโปลี โดยหยุดค้างคืน ณ สิงคโปร์และตริโปลี 2 ครั้ง รวมการเดินทาง 1 ไฟลต์ 93 ชั่วโมง สนนราคา 585 ยูโร อุตสาหกรรมการบินโลก ณ วันนี้เรียกว่ามาไกลจากจุดเริ่มต้นมาก และหากการบินระยะไกลนับหมื่นไมล์ประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า ศึกต่อไปน่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันของ “ความเร็ว” อย่างแน่นอน