ปลดล็อก “รักร่วมเพศ” อินเดีย ปั้นยุทธศาสตร์ “Pink Economy”

คำตัดสินของศาลสูงสุด “อินเดีย” ประกาศให้พฤติกรรม “รักร่วมเพศ” ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป นับเป็นการปลดล็อก “เศรษฐกิจสีชมพู” หรือ pink economy ซึ่งกลุ่ม LGBT หรือเพศทางเลือกในอินเดีย กลายเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศคึกคักมากขึ้น

เดอะ บิสซิเนส ไทมส์ รายงานว่า การยกเลิกกฎหมายมาตรา 377 ตั้งแต่สมัยที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อ 157 ปีที่ผ่านมา โดยห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนเพศเดียวกัน คำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือว่าเป็นการเปิดทางอนุญาตให้กลุ่ม LGBT สามารถหางานที่หลากหลายได้มากขึ้น จากที่เคยโดนกลั่นแกล้งและปิดกั้น รวมถึงอนุญาตให้ทำธุรกิจได้ทุกเซ็กเตอร์ ตั้งแต่สินค้าเสริมความงาม แฟชั่น สุขภาพ ร้านอาหาร กระทั่งธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม หรืออุตสาหกรรมบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลเคยสั่งห้ามไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องตามข้อกฎหมายเดิมที่บ่งชี้ว่า รักร่วมเพศถือเป็นอาชญากรรมในอินเดีย

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญด้านความเท่าเทียมทางเพศในประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งมีสังคมแบบอนุรักษนิยมแบบสุดโต่งประเทศหนึ่งในโลก ทั้งนี้ ข้อมูลการวิเคราะห์จากบริษัท “เอาท์นาว คอนซัลติง” ผู้ให้บริการที่ปรึกษาทางการตลาด และนิตยสาร Forbes India ระบุว่า กลุ่มผู้ใหญ่ LGBT ในอินเดีย มีจำนวนกว่า 55 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนกลุ่มที่มีความหลายหลายทางเพศขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มดังกล่าว มีรายได้อย่างน้อย 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่มีภาระเรื่องครอบครัวและลูก ดังนั้น เงินสดหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงเหลือก้อนโตกว่า อีกทั้งยังพร้อมจะใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานมากกว่าผู้บริโภคเพศชายและหญิง อันเป็นที่มาของคำว่า “เศรษฐกิจสีชมพู” (pink economy) หรือ ผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกว่า “pink money” คือ พลังในการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการตลาดทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ทั้งยังระบุว่าเป็นกลุ่มที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับเศรษฐกิจโลกได้มาก รวมถึงเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่มีบทบาทสำหรับรัฐบาลในอนาคตด้วย

ด้านนายเกชาฟ สุรี ผู้บริหารโรงแรมในเครือลลิต กรุ๊ป (Lalit) และเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มรักร่วมเพศที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวระบุว่า การยกเลิกกฎหมายมาตรา 377 นี้ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจในอินเดียมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรักร่วมเพศ ดังนั้น การกระตุ้นให้คู่รักเพศทางเลือกในอินเดียหันมาใช้จ่ายมากขึ้น จะสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายพันล้านดอลลาร์

พร้อมยกตัวอย่างว่า สถานบันเทิงในโรงแรมของเขาจากเดิมที่เปิดให้บริการเพียงเฉพาะคู่รักชายหญิงวัยรุ่น หรือกลุ่มคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ๆ นับจากนี้เขามีแผนจะเปิดไนต์คลับที่ให้บริการสำหรับกลุ่ม LGBT โดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มรักร่วมเพศจำนวนมากที่ต้องคอยหลบซ่อนเพื่อหาเวลาแห่งความสุข ทั้งนี้เขาเชื่อมั่นว่าจะเป็นการพลิกโฉมอุตสากรรมบริการและธุรกิจบันเทิงในอินเดีย และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว

ขณะที่นายเอียน จอห์นสัน ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาเอาท์นาวฯประเมินว่า กลุ่มเครื่องดื่ม แฟชั่นเสื้อผ้า และบริษัทท่องเที่ยว จะเป็นกลุ่มธุรกิจแรก ๆ ที่เข้ามาจับตลาดกลุ่มรักร่วมเพศในอินเดียก่อน ตัวอย่าง เช่น เมื่อสัปดาห์ก่อน อดีตเจ้าของร้านเสื้อผ้าในกรุงนิวเดลีตัดสินใจจะเปิดร้านใหม่อีกครั้ง หลังเมื่อปี 2013 ถูกภาครัฐยึดพื้นที่ร้าน เพราะถูกจับได้ว่าเป็นกลุ่มรักร่วมเพศ โดยร้านใหม่นี้จะเป็นแฟชั่นเสื้อผ้าสีฉูดฉาด เจาะกลุ่มเป้าหมายรักร่วมเพศโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ นายนัคชาทรา เบงวี ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท แบ็คแพ็ค ทราเวลส์ ในเมืองมุมไบ เปิดเผยว่า หลังข้อกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไป จะช่วยให้เม็ดเงินสะพัดในภาคการท่องเที่ยวของอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBT ที่จะหันมาท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เปิดรับเพศทางเลือกมากกว่า 26 ประเทศ หลังจากที่สถานการณ์การท่องเที่ยวของอินเดียซบเซามานานหลายปี

โดยตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2016 นักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่ซื้อแพ็กเกจกว่า 50% เป็นกลุ่มเพศทางเลือก โดยนิยมซื้อแพ็กเกจทัวร์ไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมาคนอินเดียเที่ยวนอกประเทศมากถึง 20 ล้านคน ประเทศยอดนิยม ได้แก่ ประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และยุโรป เพราะมีเสรีภาพในเรื่องเพศมากกว่าในอินเดีย

นักการตลาดชาวอินเดียรายหนึ่งกล่าวว่า เศรษฐกิจอินเดียกำลังจะแข็งแกร่งขึ้น ทั้งระบุว่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศตัวอย่างที่นักการตลาดทั่วโลกสนใจ เพราะหลายปีมานี้มีการใช้จ่ายจากกลุ่ม LGBT เฉลี่ยกว่า 79,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพราะกว่า 90% ของกลุ่มเพศทางเลือกนิยมซื้อสินค้าและบริการที่สนับสนุน pink money นั่นเอง