จับสัญญาณถ้อยแถลง “เฟด” เศรษฐกิจมะกันระยะยาว “แผ่ว”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย นงนุช สิงหเดชะ

คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็นไปตามที่ตลาดคาดหมาย ทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับไปอยู่ในช่วง 2.00-2.25% อันเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ของปีนี้ หรือครั้งที่ 8 นับจากเฟดเริ่มกระบวนการนำนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปในปีนี้ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม คือปรับขึ้นอีก 1 ครั้งก่อนสิ้นปี ส่วนปีหน้ามีแผนจะปรับขึ้น 3 ครั้งเช่นเดิม

ถ้อยแถลงของเฟดในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จาก 2.8% เป็น 3.1% และขยับคาดการณ์จีดีพีปีหน้าขึ้นอีก 0.1% ไปอยู่ที่ 2.5% ส่วนปีถัดไป คือ ค.ศ. 2020 จีดีพีจะเติบโตระดับ 2% ไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน เป็นครั้งแรกที่เฟดเผยแพร่คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2021 ว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8% หรืออ่อนแรงลง ซึ่งนักวิเคราะห์อย่างมาร์ก คาบานา หัวหน้ากลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ชี้ว่า คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2021 ของเฟด สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาวจะแข็งแกร่ง “ลดน้อยลง” เรื่อย ๆ

สิ่งที่นักลงทุนจับตาเป็นพิเศษในครั้งนี้คือถ้อยความในแถลงการณ์ของเฟดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือการยกเลิกถ้อยคำที่ส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินจะยังคงมีลักษณะ “อำนวยความสะดวก” (accommodative) หรือเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ต่างจากรอบที่แล้วซึ่งถ้อยคำลักษณะนี้ยังปรากฏอยู่

โรเจอร์ อเลียกา-ดิแอซ นักเศรษฐศาสตร์ แวนการ์ดกรุ๊ป อเมริกา ให้ความเห็นว่า แถลงการณ์ของเฟดซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจำนวนครั้งการขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งการคาดการณ์จีดีพี 2021 แสดงให้เห็นว่าในระยะยาวเศรษฐกิจจะชะลอลง ซึ่งเป็นการยืนยันความมั่นใจของเฟดว่าสามารถจะควบคุมให้เศรษฐกิจลงจอดนุ่มนวล โดยไม่ก่อให้เกิดการถดถอย ส่วนการที่เฟดยกเลิกที่จะอำนวยความสะดวกต่อเศรษฐกิจเป็นการส่งสารค่อนข้างแข็งกร้าวต่อตลาดเงิน

มาร์ก แกรนต์ กรรมการผู้จัดการ บี.ไรลีย์ เอฟบีอาร์ ซึ่งให้บริการด้านวาณิชธนกิจในอเมริกา ชี้ว่าการที่เฟดยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผนเดิม ค่อนข้างชัดเจนว่า เป็นการปฏิเสธคำขอจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่ขอให้เฟดหยุดการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเอื้อเศรษฐกิจ ซึ่งค่อนข้างแปลกที่ธนาคารกลางกับรัฐบาลกำลังเดินในทิศทางตรงข้ามกัน โดยรัฐบาลพยายามจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่เฟดพยายามจะชะลอเศรษฐกิจด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับการตอบสนองของตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ในช่วงแรกดัชนีดาวโจนส์ปรับขึ้น หลังจากนักลงทุนจับสัญญาณว่าการตัดถ้อยคำ accommodative ออกจากแถลงการณ์อาจหมายถึงการอำนวยความสะดวกน้อยลงและเคลื่อนเข้าใกล้อัตราดอกเบี้ยที่ “เป็นกลาง” (neutral rate) หมายถึงระดับดอกเบี้ยที่ทั้งไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่หลังจากประธานเฟดให้สัมภาษณ์ว่าการปรับถ้อยคำดังกล่าวออกไป ไม่ใช่การส่งสัญญาณว่าจะเปลี่ยนแผนการขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งระบุว่าเฟดไม่เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ส่งผลให้เกิดการเทขายในหุ้นกลุ่มการเงิน ทำให้ดัชนีปรับลง 106.93 จุด ปิดตลาดที่ 26,385.28 จุด

ประธานเฟดยังแตะในประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยบอกว่าเฟดได้ยินความกังวลจากทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศที่ต่างประสานเสียงไปในทำนองเดียวกัน

“หากการตอบโต้ทางภาษีเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและดำรงอยู่อย่างยาวนาน และโลกมีการปกป้องการค้ามากขึ้น ก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ” นายพาวเวลล์กล่าว


ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ โดยกล่าวว่าโชคไม่ดี ที่พวกเขาขึ้นดอกเบี้ยเพียงเพราะรัฐบาลทำผลงานเศรษฐกิจได้ดี ทั้งนี้ในเดือนที่แล้วทรัมป์ได้แสดงความไม่พอใจต่อการขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกับขอให้เฟดทำอะไรมากกว่านี้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ