รัฐบาลผสม ‘อิตาลี’ เคาะงบฯ ก้อนแรกบรรเทา ‘ความยากจน’

REUTERS/Mohamed Abd El Ghany/File Photo

ในที่สุดรัฐบาลผสมของอิตาลี ระหว่างพรรคไฟฟ์สตาร์กับพรรคสันนิบาตของอิตาลี ก็ได้ข้อสรุปในเรื่องการตัดงบประมาณ โดยบีบีซี รายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าวระบุไว้ว่าจะดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลที่ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) พร้อมกันนั้น ยังมีแผนจะเดินหน้านโยบายรายได้ขั้นต่ำสำหรับผู้ว่างงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมที่พรรคได้สัญญาไว้ก่อนการเลือกตั้ง

สำหรับงบประมาณล่าสุดนี้ ถือว่าเป็นการตัดงบประมาณครั้งแรกของรัฐบาลใหม่ของอิตาลี และได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2019 ถึงปี 2021 ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจำเป็นจะต้องยื่นเรื่องให้กับคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ก่อนช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้

รายงานระบุว่า รัฐบาลผสมของอิตาลีก้าวขึ้นมาสู่อำนาจอย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาออกนโยบายใหญ่ๆ อาทิ การลดอัตราภาษีให้เหลือเพียง 15% และ 20% จากเดิมที่อัตราภาษีอยู่ที่ 23%-43% รวมไปถึง นโยบายแจกเงินแก่ครอบครัวที่ยากจน มูลค่า 780 ยูโรต่อเดือน และนโยบายที่จะยกเลิกการยืดอายุการเกษียณออกไป พร้อมกำหนดเงินเกษียณขั้นต่ำ

เราตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะใช้กฎหมายงบประมาณนี้ล้มล้างปัญหาความยากจน นายลุยจิ ดิไมโอ รองนายกรัฐมนตรี และผู้นำพรรคไฟฟ์สตาร์ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมในวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายจิโอวานี เทรีย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสังกัดพรรคอิสระ ซึ่งได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ กลับมีความเห็นตรงกันข้ามกับข้อสรุป โดยเขาต้องการให้จำกัดการขาดดุลของงบประมาณให้ต่ำกว่า 2% ของจีดีพี เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สาธารณะของอิตาลี

ปัจจุบัน “อิตาลี” มีหนี้สาธารณะสูงถึง 2.3 ล้านล้านยูโร หรือ 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ  ซึ่งมีมูลค่าถึง 131% ของจีดีพี เป็นรองเพียงแค่ “กรีซ” ซึ่งมีหนี้สาธารณะสูงที่สุดในอียู

แม้ว่ารัฐบาลผสมของอิตาลี จะไม่ดำเนินการตัดงบประมาณตามคำแนะนำของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ แต่นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคอิสระ ยังคงผลักดันให้นายเทรียดำรงตำแหน่งต่อไป เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับ อียู และตลาดการลงทุน

ขณะที่ด้าน อียู ต้องการให้อิตาลีควบคุมการขาดดุลงบประมาณของตัวเองก่อน โดยนายปีแอร์ มอสโควิซี กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านเศรษฐกิจ มีความเห็นต่อการตัดสินใจครั้งนี้ว่า รัฐบาลอิตาลีพยายามเลี่ยงหนี้ทำให้เงินที่สามารถเอาไปต่อยอดสาธารณประโยชน์อื่นๆ เช่น โครงการก่อสร้างถนน บำรุงการศึกษา และความเท่าเทียมในสังคมนั้นลดลง

ทั้งนี้ นายมัตเตโอ ซิลวินี ผู้นำพรรคสันนิบาติกลับตั้งคำถามต่ออียูว่า ทำไมอิตาลีต้องถูกจำกัดโดยเงื่อนไขต่างๆ จากอียู ซึ่งถือว่าเป็นการขัดขวางโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ