แอมเนสตี้เรียกร้องไทยไม่ส่งกลับสองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิชาวจีน หวั่นถูกทรมานและพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม

แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกส่งจดหมายเรียกร้องไทยยุติการดำเนินคดีกับสองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีน ทั้งสองได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) แต่ถูกจับกุมตามกฎหมายคนเข้าเมืองระหว่างอยู่ในประเทศไทย พร้อมทั้งเรียกร้องไม่ให้ส่งทั้งสองกลับประเทศจีนเพราะเสี่ยงที่จะถูกทรมานและได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกกรม และผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ร่วมกันส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวสองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีนอย่างทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ระหว่างที่รอการพิจารณาจากยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) เพื่อที่จะได้รับที่พำนักอาศัยในประเทศที่สาม ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ได้รับที่พำนักอาศัยในประเทศที่สาม

อู๋ ยวี่-หัว หรือที่มักรู้จักกันในชื่ออ้าย อู และหยาง ฉง สองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีน ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวเบื้องต้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ตำรวจพบว่าทั้งคู่มีเอกสารการเดินทางไม่ถูกต้อง และดำเนินคดีกับนางอู๋ในข้อหา “เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และ “พำนักอาศัยอย่างผิดกฎหมาย” และดำเนินคดีกับนายหยางในข้อหา “พำนักอาศัยเกินที่ได้รับอนุญาต” นางอู๋ได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ แต่นายหยางยังถูกควบคุมตัวต่อไป

ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางมายังประเทศไทยในปี 2558 นายหยางตกเป็นเป้าหมายของทางการจีน เขาถูกทางการจีนควบคุมตัวโดยพลการและถูกทรมาน เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างสงบทางภาคใต้ของจีนเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในปี 2554 ทางการจีนได้เรียกตัวและควบคุมตัวเขาหลายครั้ง เนื่องจากการเข้าร่วมกับ “ขบวนการถนนในเมืองใต้” ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงโดยการถือป้ายผ้าตามถนน เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและการส่งเสริมสิทธิ ในปี 2555 ศาลสั่งจำคุกเขาเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากการจัดประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยทรัพย์สินส่วนตัว หลังพ้นโทษเมื่อปี 2556 นายหยางยังคงเข้าร่วมกับการรณรงค์เพื่อสิทธิต่อไป ถูกเรียกตัวซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังถูกควบคุมตัวโดยพลการ และถูกซ้อมโดยทางการ ในปี 2557 นางอู๋ก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน และได้ทำงานรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ทั้งคู่ต่างได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees – UNHCR) ในเดือนกันยายน 2559

เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย และไม่มีกรอบกฎหมายอย่างเป็นทางการเพื่อให้ที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจึงไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศ ย่อมเสี่ยงต่อการจับกุม การควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีเวลากำหนด ต้องอยู่ในสภาพที่เลวร้ายและเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เก็บข้อมูลกรณีนักกิจกรรมชาวจีนที่ถูกรัฐบาลไทยส่งกลับไปยังประเทศจีนตามคำร้องขอของรัฐบาลจีน พบว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลาหลายปี และสุดท้ายถูกศาลสั่งจำคุกเนื่องจากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ

แอมเนสตี้จึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เขียนจดหมายเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวหยาง ฉงโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งให้ยกเลิกการจำกัดสิทธิและการดำเนินคดีใดๆ ต่อเขาและอู๋ ยวี่-หัว และไม่ให้ส่งกลับสองสามีภรรยาไปประเทศจีนหรือประเทศอื่น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกถูกทรมาน หรือถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยด้วย

 

 

ที่มา  มติชนออนไลน์