รอยเตอร์สรายงานว่า วันพฤหัสบดีศาลสูงสุดของอินเดียได้ปฏิเสธคำร้องขอที่ระบุว่าไม่ให้รัฐบาลเนรเทศชาวโรฮีนจา 7 คน กลับประเทศพม่า เเละให้พวกเขาสามารถอาศัยอยู่ในอินเดียได้ โดย Ranjan Gogoi หัวหน้าผู้พิพากษา กล่าวในการปฏิเสธคำขอถอนการเนรเทศออกไปว่า ไม่ต้องการเเทรกเเซงการตัดสินใจของรัฐบาล
หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เงื่อนไขในรัฐยะไข่ของพม่าไม่ปลอดภัยสำหรับชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไร้สัญชาติที่ต้องเผชิญกับการประหัตประหารในพม่า
ในปีที่่ผ่านมาชาวโรฮีนจามากกว่า 700,000 คน ได้อพยพจากรัฐยะไข่ไปยังบังคลาเทศ โดยเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ ระบุว่า การกระทำของทหารพม่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ซึ่งทางการพม่าได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวดังกล่าว เเละให้เหตุผลว่า ทหารพม่าได้ออกปฏิบัติงานต่อกลุ่มที่ประท้วงเเละโจมตีกองกำลังรักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีชาวโรฮีนจากว่า 40,000 คนที่อพยพเข้ามายังอินเดีย ภายหลังคำตัดสิน กลุ่มสิทธิได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตัดสินใจของรัฐบาลที่ดูเหมือนเป็นการบังคับให้ชาวโรฮีนจาออกจากประเทศ
Human Rights Watch กล่าวว่า การเนรเทศคนเหล่านี้เสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาถูกทรมานเเละทารุณ ด้านแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การเนรเทศพวกเขาออกนอกประเทศถือเป็นการละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
นาย Prashant Bhuhan ทนายความที่ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้หยุดการเนรเทศชาวโรฮีนจาออกนอกประเทศ กล่าวกับรอยเตอร์สว่า ชาย 7 คนที่ถูกเนรเทศให้กลับไปยังพม่าอาจถูกทรมานเเละฆ่าตายที่นั่น ซึ่งถือเป็นกรณีชัดเจนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ รัฐบาลกล่าวในหนังสือรับรองที่ยื่นต่อศาลฎีกาในวันพฤหัสบดีถึงการเนรเทศชาวโรฮีนจา 7 คนออกนอกประเทศเป็นการตัดสินใจทางปกครองที่เกี่ยวกับการพิจารณาของทางการทูตและอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาถึงผลประโยชน์ของชาติ
นอกจากนี้ศาลสูงสุดของอินเดียยังเห็นชอบต่อคำสั่งของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา ถึงการเนรเทศชาวโรฮีนจาที่อพยพเข้ามาในอินเดียออกจากนอกประเทศให้หมด โดยเเจงว่าผู้อพยพอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ