“เชื้อดื้อยา” ทำลาย ศก.โลก

รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เชื้อจุลชีพดื้อยาดำเนินไปจนถึงปี 2050 จะมีคนเสียชีวิตจากการดื้อยาทั่วโลก 10 ล้านคน ซึ่งเกือบครึ่งหรือ 4.7 ล้านคนอยู่ในเอเชีย

นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ของเชื้อดื้อยา พร้อมอธิบายว่า “เชื้อจุลชีพดื้อยา” หรือ “การดื้อยา” เป็นภาวะที่แบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสในร่างกายที่ทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ มีภาวะ “ปรับตัวและต่อต้าน” ต่อยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพที่เรากินเข้าไป ทำให้ยาดังกล่าวไม่สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลชีพได้ ซึ่งจะพบมากที่สุดในเชื้อแบคทีเรีย พอเกิดภาวะดื้อยา ก็จะทำให้คนไข้มีอาการป่วยรุนแรงขึ้น นำสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในโรคหลายชนิดที่ต้องใช้ปฏิชีวนะ เช่น การติดเชื้อในปอด การติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อดื้อยาจึงเป็นปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขทั่วโลก

ทั้งย้ำว่า สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียถือว่าวิกฤตกว่าภูมิภาคอื่น สาเหตุเพราะเอเชียตามการพัฒนาจากประเทศที่เจริญแล้วในภูมิภาคอื่น ๆ และมีการจัดการปัญหาด้านสาธารณสุขยังไม่ดีมากนัก ไม่มีการให้ความรู้การใช้ยามากเท่าที่ควร และปัญหาไม่ได้มีเฉพาะการใช้ยาจากภาครัฐอย่างเดียว แต่เรียกว่าเป็นปัญหาในวงการแพทย์ที่มีการสั่งจ่ายยาน้อยหรือมากเกินไป ตลอดจนปัญหาจาก “ผู้ใช้ยา” เองที่รับประทานยาปฏิชีวนะไม่หมดโดส แบคทีเรียจึงไม่ถูกทำลายทั้งหมด เหลือรอดมาปรับตัวต่อต้านและดื้อยายกตัวอย่าง ประเทศ “อินเดีย” ที่องค์การอนามัยโลกทำการศึกษา

ในประเด็นนี้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นพื้นที่มีปัญหาเชื้อดื้อยาสูง ในปี 2015 การศึกษาจาก WHO ระบุว่า 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้ที่ผิดเกี่ยวกับการทานยาปฏิชีวนะ โดยคิดว่าไข้หวัดจะรักษาได้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะเสมอ โดยมีเพียง 58% ที่มีความรู้ว่า จะหยุดใช้ยาปฏิชีวนะได้ต่อเมื่อรับประทานหมดโดสยาทั้งยังมีปัญหาภายในวงการแพทย์จากที่โรงพยาบาลอินเดียมีการจ่ายยาปฏิชีวนะต่อคนไข้ในอัตราค่อนข้างสูง หรือจ่ายโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนามีแนวโน้มที่ผู้ที่มีเชื้อดื้อยามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะอาจมีกลไกการควบคุมการใช้ยาน้อย และตัวเลือกยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อมีน้อย

“เขาก็ต้องใช้ยาเดิม ๆ กับแบคทีเรียเดิม ๆ จึงมีโอกาสพัฒนาสู่ภาวะดื้อยาได้มากกว่าประเทศที่มีทางเลือก ขณะที่การให้ความรู้คนไข้ว่าจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ยังน้อย ทำให้ประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างที่จะมีภาวะดื้อยาอยู่ในขาขึ้นมากกว่า”


WHO รายงานว่า เชื้อดื้อยาส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท ขณะที่การศึกษาในประเทศไทยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุดื้อยา 35,000 คน/ปี