ทางการไอริชสอบเข้มเฟซบุ๊กเหตุทำข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คณะกรรมการปกป้องข้อมูลของไอร์แลนด์ (ดีพีซี) เปิดฉากสอบสวนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมซึ่งนับเป็นการนำกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวฉบับใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นของสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาใช้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีแห่งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากเฟซบุ๊กถูกเจาะระบบความปลอดภัยที่ทำให้ข้อมูลทั้งหมดของบัญชีผู้ใช้มากกว่า 50 ล้านรายรั่วไหล และเฟซบุ๊กแถลงยอมรับต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 28 กันยายนว่า ผู้ลงมือใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในการเขียนรหัสเครื่องมือของเว็บไซต์เป็นวิธีในการเข้าถึงบัญชีของผู้ใช้

โฆษกของดีพีซีระบุในแถลงการณ์ว่า ดีพีซีได้เริ่มต้นสอบสวนการทำข้อมูลรั่วไหลของเฟซบุ๊กโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบว่าเฟซบุ๊กได้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎระเบียบทั่วไปของการปกป้องข้อมูล (จีดีพีอาร์) ว่าในกระบวนการดำเนินการของเฟซบุ๊กมีการใช้มาตรการทางเทคนิคและการจัดการที่สามารถแน่ใจได้ในแง่ความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลแล้วหรือไม่

การสอบสวนของทางการไอร์แลนด์ครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญครั้งแรกของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ว่าด้วยการปกป้องข้อมูลและคุ้มครองผู้บริโภคในยุโรป

ทั้งนี้ จีดีพีอาร์ กำหนดให้ผู้ควบคุมดูแลกฎมีอำนาจครอบคลุมในการลงโทษองค์กรธุรกิจที่ล้มเหลวในการยกระดับความปลอดภัยในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหากล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อกำหนด อาจต้องรับโทษปรับสูงถึง 4 เปอร์เซ็นต์ของรายรับประจำปีทั่วโลก ที่หมายถึงเฟซบุ๊กอาจถูกปรับเงินสูงสุดได้ถึง 1,400 ล้านยูโร (ราว 52,000 ล้านบาท) เมื่อคำนวณจากรายรับ 35,200 ล้านยูโรของเฟซบุ๊กในปี 2017

อย่างไรก็ตาม นางเวรา ชูโรวา กรรมาธิการยุติธรรมและกิจกรรมผู้บริโภคของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของอียูที่ดูแลด้านความเป็นส่วนตัวระบุว่า เฟซบุ๊กไม่น่าจะต้องรับโทษปรับสูงสุดเนื่องจากทางบริษัทปฏิบัติตามกฎที่กำหนดให้ต้องมีการแจ้งเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลภายใน 72 ชั่วโมง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ดีพีซีระบุว่าในบรรดาบัญชีผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นบัญชีผู้ใช้ของบุคคลในอียู

ด้านเฟซบุ๊กระบุในแถลงการณ์ว่า “ได้ติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการปกป้องข้อมูลของไอร์แลนด์นับตั้งแต่ที่เรารับรู้ถึงการโจมตีความปลอดภัยของระบบและพร้อมให้ความร่วมมือกับการสอบสวนต่อไป”

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กที่มีสำนักงานใหญ่ในระดับนานาชาติตั้งอยู่ที่ไอร์แลนด์ได้รับผลกระทบต่อชื่อเสียงด้านการรั่วไหลของข้อมูลมาแล้วก่อนหน้านี้จากกรณีอื้อฉาวเรื่องเคมบริดจ์อนาลิติกา ที่ผู้ใช้หลายสิบล้านรายถูกนำข้อมูลไปใช้สำหรับทีมหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์

 


ที่มา  มติชนออนไลน์