เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า เดนิส มูเควเก นรีแพทย์ชาวสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ที่ให้การรักษาเหยื่อผู้ประสบความรุนแรงทางเพศ และนางสาวนาเดีย มูราด นัดเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวเผ่ายาซิดีในอิรัก ที่เป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกจับกุมตัวไปเป็นทาสความใคร่ของกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2018
คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของนอร์เวย์ที่มีสมาชิก 5 คนระบุว่า ได้ตัดสินใจมอบรางวัลให้กับทั้ง 2 คนจากความพยายามในการยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธในการทำสงคราม
“ผู้ได้รับรางวัลทั้งคู่ได้อุทิศตนให้การทำงานหรือเรียกร้องความสนใจในการต่อสู้กับการก่ออาชญากรรมสงครามในรูปแบบดังกล่าว” นางเบริต ไรส์ แอนเดอร์เซน ประธานคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพระบุไว้ในแถลงการณ์
นายแพทย์มูเควเก เป็นนรีแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศในดีอาร์คองโก และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพนซีในเมืองบูคาวูทางตะวันออกของประเทศ โดยโรงพยาบาลแห่งนี้ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 รับผู้หญิงเข้ารักษาตัวหลายพันคนต่อปี โดยมีจำนวนมากที่ต้องผ่าตัดจากการประสบความรุนแรงทางเพศ
ขณะที่น.ส.มูราด วัย 25 ปี ถูกกลุ่มไอเอสจับตัวไปเป็นทาสความใคร่ในเมืองโมซุล ของอิรักเมื่อปีค.ศ. 2014 แต่สามารถหลบหนีออกมาได้สำเร็จ โดยทุกวันนี้ เธออาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีและเป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์เรียกร้องสิทธิเพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดีในอิรักรวมถึงสิทธิสตรีและผู้ลี้ภัย
ข่าวระบุว่า ในปีนี้มีบุคคลและองค์กรได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล 331 รายชื่อ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และจากการที่ขบวนการเคลื่อนไหว #MeToo ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อปีที่แล้วและสร้างความตระหนักเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศไปทั่วโลก ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ และก็เป็นกรณีอื้อฉาว #MeToo นี่เองที่ทำให้การพิจารณามอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล จะได้รับเงินรางวัล 9 ล้านโครนสวีเดน (ราว 32.5 ล้านบาท) โดยรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะมีการมอบรางวัลที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ขณะที่สาขาอื่นจะมอบรางวัลที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนในวันเดียวกัน
ที่มา มติชนออนไลน์