สหรัฐนำเข้าสินค้ามากเป็นประวัติการณ์ดันตัวเลขขาดดุลพุ่งทุบสถิติ

AP Photo/Stephen B. Morton

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การนำเข้าสินค้ามากเป็นประวัติการณ์ผลักดันให้ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือนสิงหาคม โดยตัวเลขขาดดุลการค้าต่อจีนและเม็กซิโกสูงสุดทุบสถิติเดิม

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาว่าช่องว่างทางการค้า หรือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่อเมริกาขายให้และซื้อจากต่างประเทศในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53,200 ล้านดอลลาร์ จาก 50,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนกรกฎาคม โดยตัวเลขของเดือนสิงหาคมสูงที่สุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

การนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.6 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 262,700 ล้านดอลลาร์จากสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ ขณะที่การส่งออกร่วงลง 0.8 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 209,400 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุล 76,700 ล้านดอลลาร์ในการค้าขายสินค้าประเภทเครื่องจักรกลและรถยนต์ โดยช่องว่างดังกล่าวส่วนหนึ่งได้รับการชดเชยจากการค้าขายในภาคบริการ อาทิ การธนาคารและการท่องเที่ยว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รณรงค์หาเสียงโดยให้สัญญาว่าจะลดตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลงและได้กำหนดกำแพงภาษีต่อเหล็ก อะลูมิเนียมและสินค้าจำนวนมากที่นำเข้าจากจีน ส่งผลให้เกิดการกำหนดกำแพงภาษีตอบโต้จากคู่ค้าหลายชาติของสหรัฐ

การกำหนดกำแพงภาษีของนายทรัมป์ยังไม่ส่งผลต่อตัวเลขการขาดดุลที่เพิ่มขึ้น 8.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้มาอยู่ที่ 391,100 ล้านดอลลาร์ โดยการขาดดุลต่อสินค้าจีนเพิ่มขึ้น 4.7 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 38,600 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตัวเลขการขาดดุลต่อเม็กซิโกถ่างกว้างขึ้น 56.9 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 8,700 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นสถิติเช่นเดียวกัน

นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐเป็นผลมาจากความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงตามนโยบายการค้า นั่นคือคนอเมริกันใช้จ่ายมากกว่าผลิต และการนำเข้าเป็นการเติมเต็มความต้องการในส่วนนี้ อีกทั้งเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังกระตุ้นให้คนอเมริกันซื้อสินค้าจากต่างชาติเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การส่งออกของอเมริกันยังได้รับผลกระทบจากบทบาทของดอลลาร์ในตลาดการเงินโลก โดยเงินสกุลดอลลาร์มีความต้องการสูงตามปกติธรรมดาอยู่แล้วเพราะว่าถูกใช้ในการทำธุรกรรมส่วนใหญ่ในโลก นั่นคือเงินดอลลาร์จะค่อนข้างแข็งค่าอยู่เสมอ ส่งผลให้สินค้าของสหรัฐมีราคาแพงและทำให้บริษัทอเมริกันเสียเปรียบด้านการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์