“นาฟต้า” ใหม่ เครื่องมือ “ทรัมป์” กดดันจีน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า (NAFTA) ซึ่งมีสมาชิก 3 ชาติ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งมีอายุเกือบ 25 ปี และมีมูลค่าการค้า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รอดพ้นจากการล่มสลายเมื่อสหรัฐอเมริกาสามารถบรรลุข้อตกลงกับแคนาดาได้สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนถึงเส้นตายที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ขู่ว่าจะตัดแคนาดาออกจากข้อตกลงนี้หรือไม่ก็ยกเลิกไปเลยหากไม่สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามที่สหรัฐต้องการ

ก่อนหน้านี้สหรัฐสามารถเจรจากับเม็กซิโกได้สำเร็จไปแล้ว เหลือเพียงแคนาดาซึ่งไม่ยอมอ่อนข้อ ทำให้การเจรจายืดเยื้อเกิน 1 ปี แต่ในที่สุดทั้งสองสามารถรอมชอมกันได้ก่อนเส้นตายอย่างฉิวเฉียด อย่างไรก็ตาม

ข้อตกลงนี้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา” (USMCA) แต่มีเสียงวิจารณ์ว่าเงื่อนไขส่วนใหญ่ยังคงเหมือนนาฟต้าเดิม เพียงแค่เปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่าง แต่ทรัมป์ยืนยันว่านี่เป็นข้อตกลงใหม่เอี่ยม ไม่ใช่การนำนาฟต้ามาทำใหม่

ทรัมป์สัญญากับผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกันไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะเจรจาเงื่อนไขนาฟต้าใหม่เพื่อผลประโยชน์ของอเมริกา ดังนั้นนี่จึงเป็นผลงานที่ทรัมป์อ้างว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่

การบรรลุข้อตกลงกับแคนาดา ในแง่หนึ่งถูกตีความว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าสหรัฐน่าจะสามารถหาข้อตกลงกับจีนได้เช่นกัน ทว่า นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยกลับมองตรงข้าม เช่น เดบอราห์ เอล์มส์

ผู้อำนวยการบริหารศูนย์การค้าเอเชีย เห็นว่านี่จะเป็นโอกาสให้สหรัฐมีเวลาและสมาธิในการพุ่งเป้าเล่นงานจีนหนักข้อขึ้น เพราะถือว่ายุติแนวรบกับพันธมิตรเก่าแก่อย่างแคนาดาและเม็กซิโกไปแล้ว ทำให้ไม่ต้องกรำศึกหลายด้าน ดังนั้น แนวโน้มเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐที่มีต่อจีนจึงน่าเป็นห่วงมากกว่า

นักวิเคราะห์คนอื่นเห็นด้วยว่าการบรรลุข้อตกลงนาฟต้าใหม่จะช่วยให้สหรัฐสมานรอยร้าวกับพันธมิตรที่เสียหายไปเมื่อต้นปีจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้สามารถสร้างพันธมิตรการค้าขึ้นมาใหม่เพื่อรุมเล่นงานจีนได้

อย่างไรก็ตาม เอล์มส์เตือนว่าการใช้วิธีรังแกพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อาจได้ผลคือ ประเทศเหล่านั้นยอมอ่อนข้อให้สหรัฐบ้าง แต่การใช้วิธีเดียวกันกับจีนไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าสหรัฐจะได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะจีนนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากจีนไม่ค่อยสนใจว่าทรัมป์จะทำอะไร อีกทั้งสิ่งที่ทรัมป์และทีมงานทำนั้นไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรจากจีน

จอห์น เคอร์รี่ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐชี้ว่า ในความรู้สึกของตนเห็นว่าจีนไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ดีนักต่อการใช้ไม้แข็งของสหรัฐ อาจใช้เวลานานกว่าในการทำให้จีนยอม เพราะจีนอยู่ในตำแหน่งคนขับที่ใหญ่กว่าแคนาดา เม็กซิโก เพราะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า

ข้อตกลงนาฟต้าใหม่ หรือ USMCA มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหลักบางประการที่แตกต่างจากของเดิม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมนมและรถยนต์ เช่น สหรัฐสามารถขยายตลาดผลิตภัณฑ์นมในแคนาดาได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน สหรัฐยอมตามคำขอของแคนาดาเกี่ยวกับการคงไว้ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทการค้า

ในส่วนของข้อตกลงรถยนต์ที่น่าสนใจ ก็อย่างเช่น การกำหนดให้ต้องใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นจาก 62.5% เป็น 75% และชิ้นส่วนรถยนต์ 40-45% ต้องผลิตโดยแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 16 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกันนี้สหรัฐยอมยกเว้นให้กับรถยนต์นั่ง รถปิกอัพและชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่ของแคนาดาและเม็กซิโกไม่ต้องถูกเล่นงานทางภาษีที่สหรัฐอาจบังคับใช้ในอนาคต


ด้านผลิตภัณฑ์นม แคนาดายินยอมเปิดตลาดให้กับสหรัฐกว้างขึ้นตามที่เสนอไว้ใน “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” หรือทีพีพี ที่สหรัฐถอนตัวไป ซึ่งทางการสหรัฐอ้างว่าข้อตกลง USMCA ช่วยให้สหรัฐเข้าถึงตลาดนมของแคนาดาได้มากกว่าข้อตกลงทีพีพี