“ซอฟต์แบงก์” ผงาดยึด “Ride-Sharing” ทั่วโลก

AFP

ช่วงเดือนที่ผ่านมา แวดวงแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์มีความเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ หลัง “ซอฟต์แบงก์” เครือข่ายโทรคมนาคมญี่ปุ่น ประกาศสนใจลงทุน “อูเบอร์” หลังจากเพิ่งลุยลงทุนแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์ชาติอื่น แทบทุกทวีปทั่วโลก

“เทคครันช์” เว็บไซต์ข่าวด้านเทคโนโลยี รายงานล่าสุดว่า “มาซาโยชิ ซัน” ซีอีโอแห่งซอฟต์แบงก์ ได้ออกประกาศอีกรอบระหว่างแถลงผลประกอบการไตรมาสแรก (เม.ย.-มิ.ย.2560) ว่า กำลังตัดสินใจที่จะซื้อกิจการ “ลิฟต์” (Lyft) คู่แข่งของอูเบอร์อยู่เหมือนกัน ทั้ง 2 บริษัทต่างเป็นสตาร์ตอัพรูปแบบเดียวกันที่ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา

ทิศทางล่าสุดของซอฟต์แบงก์ชัดเจนว่า ต้องการครองตลาดแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์ในอเมริกาเหนือ จากก่อนหน้านี้ซอฟต์แบงก์ลงทุนธุรกิจดังกล่าวมาแล้วทั้ง “ตีตี ซูซิง” ของจีน “โอลา”ของอินเดีย “แกร็บ” ยูนิคอร์นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ “99” จากละตินอเมริกา

“เราสนใจทั้งอูเบอร์ และลิฟต์ เพราะอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ และเป็นตลาดสำคัญที่ทางบริษัทให้ความสนใจมาก แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะลงเอยกับเจ้าใด” มาซาโยชิ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของเทคครันช์ระบุว่า ซอฟต์แบงก์เริ่มรุกตลาดโดยลงทุนในโอลา ของอินเดีย 250 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว จากนั้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ลงทุนในตีตี ซูซิง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับลงทุนใน 99 ด้วยเม็ดเงินราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และล่าสุดกรกฎาคมที่ผ่านมา ซอฟต์แบงก์ลงทุนในกองทุนของแกร็บอีก2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

มาซาโยชิให้ความเห็นว่า ธุรกิจนี้จะก้าวเข้ามาเป็นธุรกิจหลักของโลก ดังนั้นซอฟต์แบงก์จะพลาดโอกาสไป

“ผมคิดไปถึงว่าใน 30 หรือ 50 ปีข้างหน้า ผู้คนจะเดินทางแตกต่างกับวันนี้อย่างไรบ้าง อนาคตรถยนต์ไร้คนขับจะก้าวเข้ามาให้บริการ ซึ่งเวลานั้นธุรกิจที่บริการเรียกรถออนไลน์จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

แต่การให้ความสนใจลงทุนในอูเบอร์ของซอฟต์แบงก์ ซึ่งเป็นคู่แข่งทั้งของ แกร็บ โอลา ตีตี และ 99 ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นักลงทุน และมองว่านี่คือกลยุทธ์ในการถ่วงดุลคู่แข่งของซอฟต์แบงก์ แต่ก็น่าจะเป็นความยุ่งเหยิงมากกว่าการขยายตลาด

AFP

ขณะที่อูเบอร์ ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กำลังเผชิญข่าวฉาวการล่วงละเมิดทางเพศในบริษัท ทำให้ซีอีโอต้องลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ลิฟต์ สตาร์ตอัพที่มีขนาดเล็กกว่าอูเบอร์ราว 8 เท่า ด้วยมูลค่าราว 7.5 พันล้านเหรียญ ที่เติบโตต่อเนื่องจนมีผู้ใช้งานถึง 1 ล้านเที่ยว/วัน ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า มีโอกาสที่ซอฟต์แบงก์จะ “เล่นมวยรอง” เลือกธุรกิจที่มูลค่าต่ำกว่า และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นรอง


นอกจากรุกธุรกิจแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์ ซอฟต์แบงก์ยังรุกหนักลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านอื่น โดยได้ก่อตั้ง “ซอฟต์แบงก์ วิชั่น ฟันด์” กองทุนมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นกองทุนเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่คือ “พับลิก อินเวสต์เมนต์ ฟันด์”ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้ประเดิมลงทุนก้อนใหญ่ในบริษัทผลิตชิป “Nvidia” และ “ARM” ไปแล้ว