น้ำมันจ่อทะลุ 100 ดอลล์ ทำไมค่ายรถยนต์ยังยิ้มออก ?

รถยนต์-น้ำมัน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พาณิชย์

โดยปกติแล้วแนวโน้มของการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทะยานขึ้นสู่ระดับสูง แถมยังมีการคาดการณ์ว่า อาจสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งมักสร้างแรงกดดันต่อบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ตามมา ด้วยความกังวลที่ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงมักส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค

แต่ไม่ใช่ในเวลานี้แน่นอน เพราะค่ายผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่กลับภาวนาด้วยซ้ำไปให้น้ำมันดิบในปีหน้าทะยานต่อทะลุ 100 ดอลลาร์ ไปไกล ๆ ด้วยซ้ำ

สาเหตุก็คือ ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงปีหน้า บรรดาค่ายรถเหล่านี้ต่างเตรียมการนำเอารถยนต์รุ่นต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีไฮบริด (ปลั๊ก-อินไฮบริด) และรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนมอเตอร์ในการขับเคลื่อนเพียว ๆ (อีวี) ออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก นับเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้กับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าเลยทีเดียว

“คาร์ลอส โกส์น” ประธานชาวฝรั่งเศสเชื้อสายบราซิลของเรโนลต์ เอสเอ และนิสสันมอเตอร์ บอกกับผู้สื่อข่าวในงาน “ปารีส มอเตอร์โชว์” เมื่อต้นเดือน ต.ค.ว่า ยิ่งน้ำมันแพงยิ่งดี เพราะยิ่งจะหนุนให้บรรดาผู้ซื้อตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าและรถไฮบริดได้มากขึ้น

ข้อที่น่าสนใจสำหรับการปล่อยรถยนต์เทคโนโลยีใหม่ในครั้งนี้คือ ไม่เพียงทำให้ตลาดรถยนต์มีให้เลือกหลายแบรนด์มากขึ้น จากที่เคยจำกัดอยู่แค่ “เทสลา” โดยเฉพาะตัวโมเดล 3 ยังมีรถหลายระดับออกมาให้เลือกมากมาย ทั้งแบบราคาประหยัดและระดับหรู ประสิทธิภาพสูง

ตัวอย่างเช่น ยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์จากเยอรมนีทั้งหลายพร้อมแล้วสำหรับการปล่อยโมเดลใหม่ที่ติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ออกมาให้เลือกกัน “ออดี้” กำหนดจะวางขาย “อี-ทรอน” รถสปอร์ตอเนกประสงค์ (เอสยูวี) ใช้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปีนี้ ในขณะที่ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” กำหนดวางตลาด “อีคิวซี” ในปีหน้า ส่วน “มินิ” ในสังกัดบีเอ็มดับเบิลยู ก็มีแผนจะปล่อยเจ้า “มินิ อิเล็กทริก” รถแฮตช์แบ็ก ที่หลายคนตั้งตารอออกสู่ตลาด

ในบรรดาค่ายญี่ปุ่น ก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน “ฮอนด้า” กำหนดวางจำหน่ายทั้ง “แคลิรี” ที่เป็นระบบปลั๊ก-อินไฮบริด กับ “เออร์บัน อีวี” ที่เป็นไฟฟ้าล้วน ขณะที่ “นิสสัน” ก็มีแผนปล่อยเวอร์ชั่นใหม่ของ “ลีฟ” รถไฟฟ้าขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมสูง เป็นเวอร์ชั่นที่ให้ระยะการเดินทางได้เพิ่มมากขึ้นต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

ค่ายรถจากจีนเองก็หวังใช้โอกาสนี้สร้างตลาดในระดับโลก พอ ๆ กับการขยายตลาดภายในของจีน ซึ่งในเวลานี้คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า/ไฮบริดทั้งโลก โดยผู้ผลิตทั้งบีวายดี และเบอิค มอเตอร์ กำหนดจะปล่อยรุ่นใหม่ที่ได้ระยะทางไกลกว่าเดิมออกสู่ตลาด รับมือกับการเข้ามาของเทสลา และแบรนด์ต่างชาติทั้งหลาย

ที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่รถระดับพรีเมี่ยมแบรนด์อย่าง “แอสตัน มาร์ติน” ก็ยังกระโจนมาร่วมวง ด้วยรถไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่รุ่น “ราปิด” (Rapide) ที่เคลมว่าทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 155 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แม้แต่ “ปอร์เช่” ก็สนใจเช่นกัน โดยมีแผนวางรถหรู 2 ที่นั่งรุ่น “เทย์แคน” ที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนออกมาเช่นเดียวกัน

บลูมเบิร์ก เอ็นอีเอฟ ที่วิจัยตลาดรถยนต์ประเมินว่า จำนวนรุ่นของรถไฮบริดและอีวีที่วางขายกันในปีหน้า จะเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็น 216 รุ่นและถ้าคิดเป็นจำนวนคันจะเห็นได้ชัดว่า รถประเภทนี้ยังกินตลาดเพียงส่วนเสี้ยวของตลาดโลก แต่ถ้ามองถึงอัตราการเติบโตพบว่าน่าทึ่งทีเดียว ตัวเลขเมื่อไตรมาส 2 ของปีนี้ แสดงชัดเจนว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า/ไฮบริดเพิ่มสูงขึ้นถึง 77 เปอร์เซ็นต์ เป็น 411,000 คัน

เอ็นอีเอฟประเมินเอาไว้ก่อนหน้าที่ราคาน้ำมันจะแพงว่า ในปีหน้าสัดส่วนการขยายตัวดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก 49 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 2 ของปีหน้า

ที่สำคัญยิ่งกว่าการเผยโฉมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ก็คือ ความคืบหน้าในเชิงโครงสร้างของสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับให้รถยนต์ประเภทนี้สามารถใช้งานต่อไปได้ไม่ติดขัด โดยเฉพาะโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป ผลักดันกันขนานใหญ่เริ่มประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว

ผู้ให้บริการอย่างเอเนล ในอิตาลี หรือวัทเทนฟาลล์ ในภูมิภาคนอร์ดิก ตลอดจนเซนตริกา ในสหราชอาณาจักร กำลังเร่งมือให้ระบบรีชาร์จแบตเตอรี่ของเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว ส่วนจีนไม่ต้องพูดถึง โครงการทำนองเดียวกันนี้ในจีน ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” เลยทีเดียว

“อิกนาชิโอ กาลัน” ประธานของบริษัท อิแบร์ดรอลา ผู้ให้บริการสถานีเติมน้ำมันรายใหญ่ของสเปน พูดถึงการติดตั้งระบบรีชาร์จให้รถไฟฟ้าไว้น่าสนใจว่าเป็นการให้บริการต่อสาธารณะที่บริษัทต้องทำ “เราไม่ต้องการให้ตัวเองเป็นคอขวดสำหรับพัฒนาการของรถไฟฟ้าอีกแล้ว”