เสียงเตือน “ไอเอ็มเอฟ” EM เสี่ยงเงินไหลออกแสนล้านดอลล์

( file photo) REUTERS/Johannes P. Christo

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทั้งปีนี้และปีหน้าลง 0.2% เหลือเพียง 3.7% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการพิพาททางการค้าระหว่างอเมริกาและจีน 2 ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลก ซึ่งเวลานี้ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศนับว่าเด่นชัดและสร้างความเสี่ยงมากขึ้น นโยบายการค้าและความไม่แน่นอนต่าง ๆ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างชัดเจน

ผลจากความขัดแย้งทางการค้า ทำให้ไอเอ็มเอฟประเมินว่าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกเติบโตช้าลง โดยคาดว่าปีนี้จะขยายตัวเพียง 4.2% ลดลง 0.6% ส่วนปีหน้าขยายตัว 4% ลดลง 0.5% ขณะเดียวกันการขึ้นภาษีระหว่างกันก็จะกระทบต่อจีดีพีของทั้งอเมริกาและจีน โดยถึงแม้ว่าปีนี้ทั้งสองจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ที่เดิม คือ 2.9% สำหรับอเมริกา และ 6.6% สำหรับจีน แต่ปีหน้าคาดว่าอเมริกาจะแผ่วลงเหลือ 2.5% และจีน 6.2%

ไอเอ็มเอฟเตือนด้วยว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนด้านนโยบายของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ อาจสร้างความเสี่ยงอย่างฉับพลัน กระทั่งก่อให้เกิดการปรับฐานในตลาดทุนทั่วโลกเป็นวงกว้าง ตามมาด้วยภาวะการเงินทั่วโลกตึงตัวอย่างรุนแรงและเกิดการเทขายในตลาดเงินอย่างฉับพลัน

ในส่วนของตลาดเกิดใหม่ หรือ EM นั้นดูเหมือนจะตกที่นั่งลำบากมากกว่าใคร เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเกิดขึ้นมาในห้วงที่ตลาด EM ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอันเนื่องมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทำให้เงินทุนไหลออกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของไอเอ็มเอฟเห็นว่าปัญหาของตลาด EM เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับ EM โดยรวม มีเพียงบางประเทศ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา ที่เผชิญกับการไหลออกของเงินทุนอย่างมาก ทำให้ค่าเงินอ่อนลงฮวบฮาบเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

กระนั้นก็ตาม ไอเอ็มเอฟไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าวิกฤตอาจลุกลามเป็นวงกว้างไปยังหลายประเทศ ถ้านักลงทุนยังรักความเสี่ยงและยังพึงพอใจที่จะลงทุนทั้งที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เห็นได้จากตลาดหุ้นสหรัฐที่ทำสถิติสูงสุดใหม่นับครั้งไม่ถ้วน ทั้งนี้ถ้าหากนักลงทุนยังกระโจนเข้าสู่ความเสี่ยงอย่างไม่หยุดยั้ง สุดท้ายก็อาจจะจบลงด้วยการที่ภาวะการเงินทั่วโลกตึงตัวอย่างฉับพลัน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่วิกฤตจะแพร่กระจายเป็นวงกว้างในตลาดเกิดใหม่

ตามการวิเคราะห์ของไอเอ็มเอฟ พบว่าตลาดเกิดใหม่ ยกเว้นจีน อาจประสบปัญหาเงินทุนไหลออก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 ไตรมาส ซึ่งเป็นการไหลออกระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินโลกหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ในกรณีของจีน ไอเอ็มเอฟระบุว่า แม้จีนจะเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ทางการค้ากับสหรัฐ และได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี แต่โดยรวมแล้วภาวะการเงินจีน “มีเสถียรภาพ” เนื่องจากธนาคารกลางจีนใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการลดเงินกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงไปแล้ว 4 ครั้งในปีนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้เมื่อมองไปยังหนี้ภาคเอกชนสินเชื่อนอกภาคการเงิน ตลอดจนระดับการกู้ยืมในจีน ถือว่ามีเสถียรภาพ ต่างจาก 10 ปีที่แล้ว ที่การกู้ยืมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สตีเฟ่น โรช อดีตประธานมอร์แกน สแตนเลย์ เอเชีย และผู้เชี่ยวชาญจีน ชี้ว่า สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูง อันเนื่องจากห่วงโซ่อุปทานโลกถูกทำให้ชะงักและปั่นป่วน เพราะปกติแล้วห่วงโซ่อุปทานโลกมีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลราคาสินค้า นอกจากนี้ก็จะน็อกตลาดหุ้นสหรัฐที่กำลังคึกคักพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ไปด้วย

โรชระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐและบรรดาผู้วางนโยบายโดยส่วนใหญ่ ประเมินผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าต่ำเกินไป คิดว่าจะสามารถทำให้จีนยอมแพ้อย่างรวดเร็วแบบเดียวกับเม็กซิโกและแคนาดา แต่สำหรับตนแล้วยังไม่เห็นว่าสหรัฐจะแก้ปัญหากับจีนได้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงความปั่นป่วนจะดำรงอยู่นาน และเศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลง