เพราะเหตุใด “อินเดีย” ไม่เผชิญกับวิกฤต “ค่าเงิน”

อินเดีย

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พาณิชย์

ผู้สันทัดกรณีในแวดวงการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า ประเทศที่น่าจะเผชิญกับวิกฤตค่าเงินต่อจากประเทศอย่างอาร์เจนตินา และตุรกี น่าจะเป็นอินเดีย สาเหตุสำคัญเป็นเพราะการไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ ที่ถูกดึงกลับไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา หลังจากกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางสหรัฐ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

อันที่จริงนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐอเมริกาส่งผลต่ออินเดียจริง ความต้องการสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียหดหายไปอย่างมาก กดให้ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ในปีนี้

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้อินเดียเกิดปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น เพราะจำเป็นต้องจ่ายค่านำเข้าน้ำมันดิบสูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการทั้งหมดในประเทศ ยิ่งมีปัญหามากขึ้นตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบการเงินของประเทศเต็มไปด้วยภาระหนี้ ก็ยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นไปอีก

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งอินเดียโชคดีกว่าประเทศอย่างอาร์เจนตินา และตุรกี ก็คือในโลกนี้ มีคนอินเดียเดินทางออกไปประกอบสัมมาอาชีวะอยู่นอกประเทศมากมายถึง 20 ล้านคน

ข้อมูลของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ชาวอินเดียในต่างแดนส่งเงินกลับประเทศสูงมากถึง 69,000 ล้านดอลลาร์ เกือบเทียบเท่ากับ 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินเดียเลยทีเดียว

แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ประเมินเอาไว้ว่า หากไม่มีเงินที่ส่งกลับประเทศจากชาวอินเดียที่ทำงานอยู่ในต่างแดน ภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดีย จะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในตอนกลางปีที่ผ่านมา แทนที่จะอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์อย่างที่ปรากฏ

ศิลัน ชาห์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านอินเดียของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุเอาไว้ว่า สำหรับอินเดียแล้ว เงินที่ส่งกลับบ้านเกิดจากผู้ที่ทำงานอยู่ในต่างแดนเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญมาก แต่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ ถ้าหากปราศจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาจำนวนมากที่ว่านี้แล้ว สภาพขาดดุลของอินเดีย คงแทบไม่ต่างอะไรกับประเทศอย่างอาร์เจนตินา หรือตุรกี แน่นอน

ตามการประเมินของศิลัน ชาห์ เงินที่ส่งกลับบ้านจากต่างประเทศจะเป็นกลไกช่วยสนับสนุนสถานะทางการเงินการคลังของอินเดียต่อไป อย่างน้อยก็อีกหลายปีข้างหน้า

เหตุผลหนึ่งก็คือ ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจภายนอกในหลายประเทศขยายตัว เม็ดเงินที่ชาวอินเดียซึ่งทำงานอยู่ในต่างแดนส่งกลับประเทศมาก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้น เป็นการขยายตัวตามสัดส่วนของเศรษฐกิจดังกล่าวตามไปด้วย

นอกจากนั้น ยิ่งสถานการณ์ในประเทศมีปัญหา ยิ่งจะช่วยกระตุ้นให้การส่งเงินกลับเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

เม็ดเงินซึ่งชาวอินเดียพลัดถิ่นส่งกลับมายังบ้านเกิด อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้อินเดียสามารถรักษาสภาวะความต้องการการบริโภคภายในเอาไว้ได้ ทำให้คนอินเดียยังมีอำนาจจับจ่ายใช้สอย

แทนที่จะก่อให้เกิดภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” เพราะดีมานด์ลดลง เนื่องจากกำลังซื้อลดลงทำให้เศรษฐกิจของอินเดียสามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวกระตุ้นหลักของเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศในรูปอื่น ๆ ซึ่งผันผวนไม่แน่นอนมากกว่ามาก

ตามการประเมินของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ จำนวนเงินที่ชาวอินเดียในต่างแดนส่งกลับบ้านเกิดในช่วงปีหรือสองปีข้างหน้านี้ น่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ระหว่าง 5 เปอร์เซ็นต์ ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ภาวะขาดดุลของประเทศขยายเพิ่มขึ้นจาก 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เป็น 2.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีได้เลยทีเดียว

และแน่นอน ช่วยป้องกันไม่ให้สถานการณ์ของอินเดียทรุดหนักลงไปอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศเศรษฐกิจใหม่ด้วยกัน ซึ่งตอนนี้ต้องดิ้นรนอย่างหนักจากภาวะค่าเงินร่วงแบบถล่มทลายในปีนี้