“ไททานิค” กับภูเขาน้ำแข็ง เวอร์ชั่น “อเมริกา-จีน”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

ในช่วง 1 สัปดาห์เศษที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเหล่านักวิเคราะห์จะใจตรงกัน ด้วยการพูดถึงเรือไททานิคกับยอดภูเขาน้ำแข็ง เพื่อใช้เปรียบเทียบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของอเมริกากับจีน โดยในฟากของอเมริกาภายหลังจากดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างรุนแรงถึง 800 จุด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เลวร้ายที่สุดในรอบ 8 เดือน ทำให้ “สกอตต์ มิเนิร์ด” หัวหน้าฝ่ายการลงทุนทั่วโลกของกุกเกนไฮม์ ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 2.65 แสนล้านดอลลาร์ ออกมาชี้ว่า เศรษฐกิจอเมริกากำลังเร่งเครื่องไปข้างหน้าเต็มกำลัง โดยที่ยอดภูเขาน้ำแข็งค่อย ๆ โผล่ขึ้นมาไม่ต่างไปจากเรือไททานิคเคราะห์ร้าย

มิเนิร์ดระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เขาทำนายเช่นนั้นเป็นเพราะในอนาคตนโยบายการเงินจะตึงตัว จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ส่วนนโยบายการคลังจะเปลี่ยนสภาพจากกระตุ้นเศรษฐกิจไปเป็นการถ่วงรั้งเศรษฐกิจภายในปี 2020 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นการขยายตัวของตลาดหุ้นก็จะถึงวาระสิ้นสุด และมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับลง 40% จากระดับสูงสุด

อันที่จริงสาเหตุการแผ่วลงของเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดหุ้นในอนาคต ไม่ได้เกิดจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ตอบโต้กันด้วยการขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกัน ซึ่งทำท่าว่าจะยืดเยื้อไม่สามารถยุติลงได้ง่าย ๆ

นอกจากนี้ ก็มีประเด็นน่าห่วงจากการที่หนี้สาธารณะของสหรัฐพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์สู่ 21.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 105% ของจีดีพี

คำทำนายของมิเนิร์ดถูกโต้แย้งจาก ลาร์รี คัดโลว์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่อ้างว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจอเมริกากำลังร้อนแรงที่สุดในโลก ขยายตัวรวดเร็วที่สุด ต่างจากส่วนที่เหลือของโลกทั้งยุโรปและเอเชียที่เติบโตช้าลง โดยครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจอเมริกาเติบโต 3.2% และคาดว่าจะขยายตัว 4% ในไตรมาส 3

“ปัจจุบันอเมริกากำลังเป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล ผมไม่เห็นว่าการขยายตัวนี้จะสิ้นสุด ท่านประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปลี่ยนแรงจูงใจในเศรษฐกิจ สงครามเศรษฐกิจจบลงแล้ว” ความหมายของคัดโลว์ก็คือ การที่ทรัมป์ลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 21% จาก 35% ถือเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน ดังนั้น จะก่อให้เกิดการจ้างงานและหนุนนำเศรษฐกิจ

ขณะที่ในซีกของจีน สัปดาห์ที่แล้วบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง ได้ออกมาตีปี๊บเรื่องหนี้ของรัฐบาลจีนว่า ระดับหนี้แท้จริงอาจสูงกว่าที่เผยต่อสาธารณะหลายเท่า โดยอาจเป็นไปได้ที่จะสูงถึง 30-40 ล้านล้านหยวน หรือ 4.34 จนถึง 5.78 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 60% ของจีดีพี หากรวมเอาหนี้ที่รัฐบาลจีนซุกซ่อนไว้กับหน่วยงานปล่อยสินเชื่อต่าง ๆ ของรัฐบาลที่คาดว่าอยู่ในระดับล้านล้านดอลลาร์

เอสแอนด์พีระบุว่า ความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนจำนวนมากลงทุนอย่างหนักในโครงสร้างพื้นฐาน โดยมักได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก LGFVs ซึ่งเป็นหน่วยงานปล่อยกู้สินเชื่อระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของหน่วยงานดังกล่าวมักไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินที่ปล่อยกู้ และไม่ชัดเจนว่าปล่อยกู้ไปทำอะไร ซึ่งหนี้จำนวนมากถูกซุกซ่อนไว้ใน LGFVs เหล่านี้ และคาดว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลจะปล่อยให้มีการเบี้ยวชำระหนี้ให้กับ LGFVs ดังกล่าว

“นั่นเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งหนี้ที่มาพร้อมกับความเสี่ยงของสินเชื่อระดับใหญ่ยักษ์เท่าเรือไททานิค” นักวิเคราะห์ของเอสแอนด์พีระบุ

การออกมาตีฆ้องร้องป่าวเรื่องหนี้ของจีนและของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาพิพาทการค้าระหว่างจีนและอเมริกาที่ไม่มีแนวโน้มจะยุติง่าย ๆ ทำให้ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเตือนว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเริ่มแผ่วลงในปีหน้าเป็นต้นไป และลากเศรษฐกิจโลกลงไปด้วย