เขื่อนยักษ์ “เอธิโอเปีย” เขย่าอำนาจแอฟริกาเหนือ

เขื่อน

หากแม่น้ำโขงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “แม่น้ำไนล์” ก็เป็นเหมือนสายธารหลักของแอฟริกาเหนือ แต่การสร้างเขื่อนยักษ์ของ “เอธิโอเปีย” บริเวณต้นน้ำ กำลังตอกลิ่มความร้าวฉานกับชาติเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ “อียิปต์”

แม่น้ำไนล์ได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำมีความยาวที่สุดในโลก ไหลผ่าน 11 ประเทศ โดยยุคอาณานิคม “อียิปต์” เป็นแกนหลักในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ จากการลงนามร่วมกับสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่จัดสรรน้ำให้อียิปต์มากสุด 55,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และให้อำนาจในการคัดค้านโครงการก่อสร้างบริเวณต้นน้ำ ในฐานะที่มีจุดยุทธศาสตร์ที่เสียเปรียบประเทศอื่น

แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปหลัง “เอธิโอเปีย” เร่งสร้างเขื่อนยักษ์ “แกรนด์เอธิโอเปียเรอเนสซองซ์” (GERD) กั้นแม่น้ำบลูไนล์ ต้นน้ำสายสำคัญที่ไหลรวมกับแม่น้ำไวต์ไนล์ ก่อนจะป้อนน้ำราว 85% ของทั้งหมดไปยังอียิปต์

เขื่อน GERD มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ กำลังก่อสร้างใกล้ชายแดนประเทศซูดาน เมื่อเสร็จจะกลายเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดของแอฟริกา ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์6 เตา สำหรับใช้ภายในและส่งออกทั่วทวีปแอฟริกา เพื่อช่วยให้ชาวเอธิโอเปียก้าวพ้นความยากจน

นายอาลี เอล-บาห์ราวี ศาสตราจารย์ด้านชลศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเอนชามส์ กรุงไคโร กล่าวกับ “ซีเอ็นเอ็น” ว่า เขื่อน GERD จะทำให้อำนาจบริหารจัดการแม่น้ำบลูไนล์อยู่ในกำมือของเอธิโอเปีย กระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำไนล์ และสะเทือนสมดุลอำนาจในแอฟริกาเหนือ เพราะไนล์เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงอียิปต์ ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณของอียิปต์

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในแอฟริกาเหนือ จากปี 2014 อียิปต์มีปริมาณน้ำ 637 ลูกบาศก์เมตรต่อประชากร เทียบกับสหรัฐ 9,538 ลูกบาศก์เมตรต่อหัว

ขณะที่ประชากรอียิปต์มีแนวโน้มจะเพิ่มจาก 97 ล้านคน เป็น 120 ล้านคนในปี 2030 นั่นหมายถึงปริมาณน้ำต่อหัวที่จะลดต่ำกว่า 500 ลูกบาศก์เมตร ซึ่ง FAO ถือว่าเข้าขั้น “วิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างสมบูรณ์” โดยยังไม่ได้นำปัจจัยเรื่องเขื่อน GERD มาคำนวณ

ในรายงานกล่าวอีกว่า ราว 79% ของน้ำที่ไหลเข้าสู่อียิปต์ นำมาใช้ในภาคเกษตรกรรม เพียง 7% ใช้กับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้ว่าเกษตรกรรมสำหรับอียิปต์ยังถือว่าเป็นแหล่งรายได้อันดับหนึ่ง โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าวสาลี ฝ้าย อ้อย มะเขือเทศ ผลไม้ และข้าว ส่งออกเฉลี่ยปีละ 5 ล้านตันรัฐบาลไคโรพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศด้วยการบรรจุการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ หวังเพิ่มรายได้

ส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และภูมิทัศน์ของการเป็นประเทศลุ่มน้ำไนล์ นักวิเคราะห์มองว่า หากเกิดวิกฤตแม่น้ำไนล์ที่ไหลผ่านอียิปต์แห้งเหือด อีกหนึ่งธุรกิจที่จะกระทบก็คือ การท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของทิวทัศน์ที่ไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และความไม่พร้อมของระบบสาธารณูปโภค

เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงชลประทานของอียิปต์ ซูดาน และเอธิโอเปีย เห็นชอบร่วมกันให้มีการศึกษาผลกระทบของเขื่อน GERD ต่อประเทศปลายน้ำ

แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่คืบหน้า มีเพียงคำมั่นจากนายกรัฐมนตรี “อาบีย์ อาเหม็ด” ของเอธิโอเปีย ขณะเดินทางมาอียิปต์ในเดือน มิ.ย.ว่า จะเดินหน้าสร้างเขื่อนโดยไม่สร้างความเสียหายให้กับชาวอียิปต์

แต่ประเด็นที่ยังต้องติดตามก็คือ อียิปต์ต้องการยืดเวลาการกักน้ำให้เต็มเขื่อนของเอธิโอเปีย จาก 3 ปีเป็นระยะ 10 ปี โดยอ้างว่าการกักเก็บน้ำให้เต็มความจุเร็วจะยิ่งเหลือปริมาณน้ำมายังประเทศปลายน้ำน้อย ซึ่งอียิปต์เป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดเพียง 0.4% ของแหล่งน้ำในอียิปต์

นายคาลิด อาบูซาอิด เลขาธิการกลุ่มหุ้นส่วนด้านน้ำของอียิปต์ ประเมินว่า หากเขื่อน GERD กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป จะส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูก 625,000 เอเคอร์ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ในปีที่ฝนตกน้อย เกษตรกรและคนงานนับล้านไม่มีงานทำ คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราวปีละ 2,000 ล้านดอลลาร์

ไม่มีใครมั่นใจว่าการเจรจาเพื่อลดผลกระทบจากเขื่อนยักษ์นี้จะสำเร็จเพียงใด แต่ที่ชัดเจนคือ อียิปต์ไม่ใช่มหาอำนาจในแอฟริกาเหนืออีกต่อไป

ขณะที่เอธิโอเปียกำลังอยู่ในจุดที่สามารถชี้ชะตาคนอื่นได้