ผลพวงนโยบาย “ทรัมป์” ผลักไส “ญี่ปุ่น” ใกล้ชิด “จีน”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

ถึงนาทีนี้ค่อนข้างจะแน่นอนแล้วว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจเดินไปสู่ความตึงเครียดระดับสูงสุด เนื่องจากสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเต็มสเกล มูลค่าที่สหรัฐนำเข้า นั่นคือ 5 แสนกว่าล้านดอลลาร์ ขณะที่มั่นใจว่าตนเองจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะจีนคงไม่สามารถตอบโต้สหรัฐได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และน่าจะหมดกระสุนแล้ว

ส่วนฝ่ายจีนก็ประกาศลั่นจนถึงนาทีนี้ว่าจะไม่ยอมถอย และไม่กลัวสงครามการค้ากับสหรัฐ ดังนั้น ท่ามกลางการคาดเดาอะไรไม่ได้ คนวงนอกทำได้เพียงลุ้นว่าฝ่ายไหนจะยอมกะพริบตา ยอมแพ้ก่อน และมีไม่น้อยที่ประเมินว่า สงครามการค้าของสองยักษ์เศรษฐกิจโลกจะกินเวลายืดเยื้อไม่ต่ำกว่า 2 ปี

นโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เล่นงานทุกชาติที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ โดยเฉพาะจีน เป็นความพยายามของทรัมป์ที่จะลดความเป็นโลกาภิวัตน์ด้านการค้าและเศรษฐกิจกับจีนลง เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ สกัดกั้นการผงาดขึ้นของจีน ดังที่ “พาสคาล ลามี” อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ระบุว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะทำให้ทั้งสองประเทศเกี่ยวพันกันน้อยลง

ดังนั้นในอนาคต โลกาภิวัตน์จะมีความเป็นเนื้อเดียวกันน้อยลง (less homogenous globalization) กล่าวคือโลกาภิวัตน์จะยังเป็นตัวเอกในการค้าโลก อีกทั้งจีนและสหรัฐอเมริกายังคงมีบทบาทสำคัญ เพียงแต่ทั้งสองประเทศจะไม่อยู่ด้วยกันอีกต่อไป ยกตัวอย่าง เช่น สหรัฐจะหันไปใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปมากกว่าในแง่ของการค้า

นโยบายต่างประเทศและการค้าของทรัมป์ที่กลับหัวกลับหางทุกอย่าง ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนต่อชาติพันธมิตรไปด้วยไม่ต่างจากผึ้งแตกรัง อย่างที่เห็นได้จากชาติยุโรป ต้องเดินสายขวักไขว่ข้ามไปยังเอเชีย เพื่อกระชับสัมพันธ์การค้ากับจีน หลังจากทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้าจากยุโรปไปด้วย จนความสัมพันธ์ตึงเครียด

และอีกด้านหนึ่งชาติยุโรปกับญี่ปุ่นก็แสดงออกชัดเจนว่าจะจับมือกันรักษาความเป็นโลกาภิวัตน์ทางการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนยึดมั่นในการค้าเสรี อันเป็นท่าทีคัดค้านทรัมป์โดยปริยาย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เกิดขึ้นในซีกของ “จีนกับญี่ปุ่น” ซึ่งได้รับการจับตาไม่น้อย นั่นคือการที่ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางไปพบปะกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม ถือเป็นการไปเยือนจีนในรอบเกือบ 7 ปี ในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ครบ 40 ปี โดยอาเบะนำเอาผู้บริหารภาคธุรกิจหลายร้อยคนไปด้วย เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจและการค้าในจีน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของญี่ปุ่น

แม้ไม่มีการพูดออกมาโดยตรงก็เป็นที่รับรู้กันว่า ท่าทีของทรัมป์ทำให้ญี่ปุ่นเกิดความไม่มั่นใจในสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรและเป็นผู้ปกปักญี่ปุ่นในด้านความมั่นคงมาเป็นเวลานาน ซ้ำร้ายทรัมป์ยังขู่กรรโชกญี่ปุ่นอยู่เป็นระยะ เช่น ขู่จะเก็บภาษีรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อบีบให้ญี่ปุ่นยอมตามที่สหรัฐต้องการ จึงเป็นธรรมดาที่ญี่ปุ่นจะหาทางเลือกใหม่ให้กับตัวเอง

“แบรด กลอสเซอร์แมน” อาจารย์มหาวิทยาลัยทามะ ในโตเกียว ชี้ว่าการที่ทรัมป์ปฏิบัติต่อประเทศพันธมิตรในเอเชียและอื่น ๆ ด้วยวิธีขู่ เปิดโอกาสให้จีนเสนอตัวเองต่อญี่ปุ่นและชาติอื่น ๆ ในฐานะหุ้นส่วนทางเลือกเชิงกลยุทธ์แทนสหรัฐ และลดความกังวลเกี่ยวกับการผงาดขึ้นของจีน

กลอสเซอร์แมนระบุว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับจีนในตอนนี้ นั่นคือถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจสูงสุดด้านเศรษฐกิจ ต่อมาในที่สุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ซวดเซอย่างหนัก และเศรษฐกิจจีนก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนแซงญี่ปุ่นไป

กล่าวได้ว่านโยบายของทรัมป์ ผลักไสให้ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือก ต้องหันมาใกล้ชิดกับจีน แม้ว่าทั้งจีนและญี่ปุ่นจะมีปัญหาพิพาทกันมายาวนานทั้งเรื่องเขตแดนทางทะเลและอื่น ๆ นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ถึงแม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่หมดไป แต่สองฝ่ายก็บริหารจัดการได้ดีขึ้น เพราะมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกันในเชิงธุรกิจการค้าในยามที่ถูกบีบจากทรัมป์