“สงครามการค้า” ระส่ำ จีนแก้เกมเปิดประตูต่างชาติ

การเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในประเด็น “สงครามการค้า” ที่ทั่วโลกคาดว่าจะมีขึ้นนอกรอบการประชุม G20 ช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ ส่งสัญญาณค่อนข้างลบ ประเมินว่ายังยืดเยื้อ ส่งผลให้ทั้งบริษัทจีนและญี่ปุ่นเริ่มปรับทิศการลงทุนขยายฐานการผลิตในต่างแดนมากขึ้น โดยประเทศเป้าหมายยังคงเป็น “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเม็กซิโก”

บลูมเบิร์กระบุว่า ทั่วโลกคาดหวังที่จะเห็นการเจรจาระหว่างประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” และ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในระหว่างการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. ถึง 1 ธ.ค.นี้ นักวิเคราะห์มองว่า การเจรจาอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือผลการหารือแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม

ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ยังคงเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 1.3% สู่ระดับ 54,000 ล้านดอลลาร์ เป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ทางการปักกิ่งประกาศแผนกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพิ่ม

โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้คำมั่นระหว่างเปิดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติ หรือ CIIE ครั้งที่ 1 ในเมืองเซี่ยงไฮ้

ในฐานะ “โรงงานของโลก” รัฐบาลเตรียมจะปรับลดกำแพงภาษีหลายรายการ พร้อมกับจะเปิดให้ต่างชาติเข้าถึงธุรกิจจีนในหลายอุตสาหกรรม เช่น การศึกษา โทรคมนาคม และธุรกิจเชิงวัฒนธรรม ทั้งกล่าวว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจต่างชาติ โดยบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนมีขึ้น หลังจากที่หลายบริษัทต่างชาติประกาศแผนลดกำลังการผลิตลงในจีนต่อเนื่อง และหันไปเพิ่มการผลิตในโรงงานต่างประเทศแทน

ตัวอย่างเช่น “นิเด็ค อิเล็คโทรนิคส์” ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนมอเตอร์ในเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น จะย้ายฐานผลิตบางส่วนออกจากจีน และจะเพิ่มการลงทุนในโรงงานที่เม็กซิโกอีกราว 178 ล้านดอลลาร์ ในเดือน มี.ค.ปีหน้า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจในสหรัฐ ขณะที่กลุ่มสินค้าดังกล่าวถูกมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 25%

“ชิเงะโนะบุ นากะโมะริ” ซีอีโอของนิเด็ค กล่าวว่า สงครามการค้าจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนาน การเจรจาระหว่าง 2 ผู้นำในเวที G20 อาจไม่มีความคืบหน้า

ส่วน “พานาโซนิค” หนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นรุ่นบุกเบิกตลาดจีน ก็มีแผนจะย้ายฐานการผลิตเครื่องเสียงสเตอริโอ ไปยังประเทศไทย มาเลเซีย และเม็กซิโก โดยให้เหตุผลว่า 3 ประเทศนี้มีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งยังเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศรอบด้านที่เป็นลูกค้าของพานาโซนิคได้

โดยผู้บริหารของพานาโซนิคกล่าวว่า อัตราภาษีใหม่ที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากจีน คาดว่าจะกระทบต่อผลกำไรของบริษัทราว 89 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ “TCL” ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีน เป็นรายล่าสุดที่ประกาศแผนจะย้ายการผลิตบางส่วนไปเม็กซิโก เช่น โทรทัศน์ระบบจอผลึกเหลว โดยจะขยายกำลังการผลิตโรงงานที่เม็กซิโกจาก 2 ล้านยูนิต เป็น 4 ล้านยูนิต ภายในปี 2019

ส่วน “GoerTek” ในมณฑลชานตง ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้กับ AirPod มีเป้าหมายใหม่จะย้ายการผลิตหูฟังไร้สายไปยังโรงงานที่เวียดนาม ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของเวียดนามกับหลายประเทศ จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกของบริษัท เพื่อชดเชยรายได้จากผลกระทบจากสงครามการค้าได้

ประธานสมาคมการค้าและลงทุนของจีน ฝ่ายการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นในจีน แม้ว่าสร้างความกังวลใจต่อนักลงทุนต่างชาติ แต่สงครามการค้าที่ไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดสร้างความหวาดกลัวต่อบรรดานักธุรกิจมากกว่าหลายเท่า ซึ่งหนทางเดียวที่จะชดเชยรายได้พวกเขาได้เร็วที่สุด ก็คือการย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีน

อย่างไรก็ตาม แผนการเพื่อรั้งการลงทุนของต่างชาติในจีน ด้วยการเปิดตลาดในหลายธุรกิจที่รัฐบาลจีนเคยปิดกั้น อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนดีขึ้นได้

ขณะที่ผู้นำจีนย้ำชัดเจนว่า จีนจะยังยึดมั่นในกลไกการค้าโลกแบบพหุภาคี และนโยบายการค้าอย่างเป็นธรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เมด อิน ไชน่า 2025”