นักลงทุนขานรับทางบวก “ทรัมป์” แพ้เลือกตั้งสภาล่าง

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ถือว่าถูกจับตามองมากที่สุด เพราะคล้ายจะเป็นการลงประชามติกลาย ๆ ของชาวอเมริกันที่มีต่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ซึ่งผลที่ออกมาปรากฏว่าพรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายกำชัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกในรอบ 8 ปี ขณะที่พรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามคาด

ผลการเลือกตั้งเช่นนี้หมายความว่า อำนาจของทรัมป์จะถูกถ่วงดุลโดยเดโมแครต ไม่สามารถเดินหน้าฉลุยเหมือน 2 ปีแรก การทำอะไรหลายอย่างอาจติดขัดหรือถึงขั้นเป็นอัมพาต เพราะการมีเสียงข้างมากหมายถึงเดโมแครตสามารถสอบสวนเรื่องการขอคืนภาษีของทรัมป์ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ทรัมป์อาจถูกบังคับให้ลดความทะเยอทะยานในโครงการต่าง ๆ ลง เช่น งบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก มาตรการลดภาษี และนโยบายการค้าที่แข็งกร้าว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อนโยบายหลายอย่างทั้งในและต่างประเทศ เรื่องหนึ่งที่ถูกเฝ้าจับตาก็คือ จะส่งผลอย่างไรต่อปัญหาสงครามการค้ากับจีน จะผ่อนคลายลงหรือแย่กว่าเดิม โดยในความเห็นของ สตีเว่น โอคุน ที่ปรึกษาอาวุโสแมคลาร์ตี แอสโซซิเอตส์ เชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตต่างสนับสนุนการใช้มาตรการแข็งกร้าวต่อจีน ทั้งเรื่องการค้าและการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น ทรัมป์ก็คงจะสามารถเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป

แต่ในประเด็นนโยบายการค้าสหรัฐที่มีต่อสหภาพยุโรป (อียู) อาจต่างออกไป ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไอเอ็นจีระบุว่า หากทรัมป์เสนอมาตรการเก็บภาษีสินค้าจากอียู หรือนำสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เดโมแครตจะคัดค้านเพราะไม่ต้องการทำสงครามการค้ากับชาติพันธมิตร

เช่นเดียวกับ แกรี่ โคห์น อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์ ที่มองว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้คงไม่ช่วยเยียวยาปัญหาการค้ากับจีนได้โดยทันที อย่างไรก็ตาม เขามีมุมมองต่างจากทรัมป์ในประเด็นการขาดดุลการค้ากับจีน

โดยทรัมป์มองว่าการขาดดุลเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทรัมป์บังเอิญไปเจอกับนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งของบริษัทอเมซอนแล้วก็เชื่อนักเศรษฐศาสตร์คนนั้น จึงทำให้ทรัมป์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก

อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจทรัมป์ ระบุว่า ในความเห็นของตนการขาดดุล 3 แสนล้านดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ตราบใดที่อเมริกาซื้อสินค้าได้ในราคาถูกกว่าที่ผลิตเอง เพราะหากอเมริกาผลิตได้ถูกกว่าจีนก็คงผลิตไปแล้ว แต่ประเด็นสำคัญและตรงจุดกว่าก็คือ ปัญหาการเข้าถึงตลาดจีน การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และการที่จีนบังคับให้บริษัทต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยี

สำหรับปฏิกิริยาของนักลงทุนหลังทราบผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าตลาดหุ้นขานรับคึกคัก โดยดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 545.29 จุด หรือ 2.13% เอสแอนด์พี 500 บวก 58.44 จุด หรือ 2.12% เช่นเดียวกับแนสแดค ปรับขึ้น 2.64% ซึ่งโกลด์แมน แซคส์ชี้ว่า ทั้งดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ปรับขึ้นหลังเลือกตั้งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982

การขานรับของตลาดหุ้นเกิดขึ้นหลังจากทรัมป์ออกมาแถลงว่า เต็มใจจะร่วมงานกับเดโมแครตเกี่ยวกับนโยบายที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ นักลงทุนเห็นว่าทรัมป์จะถูกตรวจสอบมากขึ้น ทำให้ไม่ออกนโยบายที่จะสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดมาร์โค โคแลนโนวิก นักวิเคราะห์ของ เจพี มอร์แกน เชส ระบุว่า การที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภา (คองเกรส) ถือเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อสหรัฐและต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

เพราะการไม่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ทำให้ทรัมป์ไม่สามารถพึ่งพาคองเกรส หรือธนาคารกลางสหรัฐ ในมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป ดังนั้น ทรัมป์จะทำอย่างดีที่สุดภายใต้อำนาจของตัวเองเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

หมายความว่าทรัมป์อาจจะยกเลิกสงครามการค้าที่ทำลายเศรษฐกิจและหันไปสู่ข้อตกลงที่สร้างชัยชนะแก่ทุกฝ่ายแทน