วิกฤตการเมือง “ศรีลังกา” สังเวยเกมชิงอำนาจ “อินเดีย-จีน”

ไมตรีปาลา ศิริเสนา-ศรีลังกา

เกมถ่วงดุลอำนาจระหว่าง “จีนและอินเดีย” เพื่อสร้างอิทธิพลในมหาสมุทรอินเดียเกิดขึ้นมานาน ขณะที่ “ศรีลังกา” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลประโยชน์มหาศาลในด้านการขนส่งทางเรือสู่ทวีปอื่น ที่กลายเป็นพื้นที่สำคัญแห่งการช่วงชิงอำนาจนี้ และวิกฤตการเมืองของรัฐบาลศรีลังกากำลังทำให้ “อินเดีย” อาจเพลี่ยงพล้ำให้กับจีนง่ายขึ้น

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ประธานาธิบดี “ไมตรีปาลา ศิริเสนา” แห่งศรีลังกา ประกาศยุบสภาพร้อมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 5 มกราคมปีหน้า โดยวิกฤตการเมืองครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน “รานิล วิกรมสิงเห”ถูกประธานาธิบดีศิริเสนาสั่งปลดออกจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งอดีตประธานาธิบดี “มหินทา ราชปักษา” นักการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับจีนมากที่สุด เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน

รอยเตอร์สรายงานโดยอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของศรีลังการะบุว่า ความจริงแล้วรัฐบาลจะมีสิทธิประกาศยุบสภาได้อย่างเร็วที่สุดคือในช่วงต้นปี 2020 หรือต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 เท่านั้น จึงยังไม่ชัดเจนว่าคำสั่งยุบสภาของประธานาธิบดีศิริเสนาจะมีผลบังคับหรือไม่ ขณะที่ทีมกฎหมายที่สนับสนุนนายศิริเสนายืนยันว่า มีข้อกฎหมายที่เปิดทางให้ประธานาธิบดีสามารถสั่งยุบสภาได้ หากมีข้อพิสูจน์ว่า นายกฯวิกรมสิงเห พยายามยัดเยียดแนวคิดเสรีแบบสุดโต่ง เน้นนโยบายต่างประเทศที่เอาเปรียบชาวศรีลังกาจริงตามที่ถูกกล่าวอ้าง

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์อินเดีย-จีน จากมหาวิทยาลัยชวาหะร์ลาลเนรู ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า แม้จุดภูมิศาสตร์ของศรีลังกาดูคล้ายว่าจะอยู่ภายใต้อาณัติของอินเดีย อย่างไรก็ตามการลงทุนของจีนในเมกะโปรเจ็กต์มูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้สร้างอำนาจต่อรองให้จีนได้ดีกว่า

ทั้งนี้ ช่วงระหว่างที่นายราชปักษาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในปี 2005-2014 เกิดโครงการก่อสร้างจากทุนจีนมากมาย เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในฮัมบันโตตา หนึ่งในท่าเรือสำคัญของศรีลังกา และเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือระหว่างประเทศข้ามมหาสมุทรอินเดียที่คับคั่งที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเส้นทางพาดผ่านของโครงการ One Belt One Road (OBOR) ที่รัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องการเชื่อมต่อกับทวีปอื่นทั่วโลก

ขณะที่ “อินเดีย” พยายามคานอำนาจกับจีน ประกาศการลงทุนพัฒนาท่าเรือตรินโคมาลี ทางภาคตะวันออกของศรีลังกา ท่าเรือที่มีความลึกมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยจะเอื้อประโยชน์ในด้านการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของรัฐบาลอินเดีย

นอกจากนี้รัฐบาลนิวเดลียังเสนอจะพัฒนาโรงไฟฟ้า ยกระดับเส้นทางรถไฟ และสร้างเขตอุตสาหกรรมพิเศษร่วมกับรัฐบาลศรีลังกา

นักวิเคราะห์ด้านการเมืองเอเชีย-แปซิฟิกของสถาบันเพื่อธุรกิจอเมริกาในอินเดีย มองว่าความพยายามของนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เพื่อช่วยกันถ่วงอิทธิพลของจีนที่ขยายตัวในศรีลังกาเร็วมากเกินไป แม้ว่าแผนการลงทุนของอินเดียที่ท่าเรือตรินโคมาลี อาจเทียบไม่ได้กับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของจีน แต่อย่างน้อยอินเดียก็สามารถแน่ใจได้ว่า ท่าเรือแห่งนี้จะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการทหารแอบแฝง อีกทั้งท่าเรือแห่งนี้อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถต่อกรกับจีนได้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ช่วงสุญญากาศทางการเมืองของศรีลังกาน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งฝ่ายจีนและอินเดียพยายามเร่งสร้างผลงานมากที่สุด การเจรจาเพิ่มการลงทุนอาจช่วยสร้างอำนาจทางการเงินในศรีลังกาได้มากขึ้น

ขณะที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยยังกังขาในวิธีการบริหารและผลประโยชน์แอบแฝงระหว่างจีนกับนายราชปักษา เนื่องจากศรีลังกามีหนี้สินมหาศาล ในการกู้เงินหลายพันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลจีน เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในช่วงสมัยที่นายราชปักษาบริหารประเทศไม่ใช่แค่ศรีลังกาที่เคยเผชิญปัญหาเดียวกัน มัลดีฟส์ ปากีสถาน เนปาล และอีกหลายประเทศขนาดเล็ก

นักวิจารณ์โครงการจีนระบุว่า โครงการ OBOR ของรัฐบาลจีนเรียกได้ว่าเป็นความเสี่ยงทำให้ประเทศขนาดเล็กเป็นหนี้ิสิน และอาจถูกแทรกแซงอธิปไตยได้ง่าย

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลปากีสถานประกาศว่า จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจของจีน-ปากีสถาน (CPEC) ซึ่งเป็นโครงการเรือธงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์ OBOR เพื่อใช้เป็นประตู่สู่ทวีปอื่นเช่นกัน

อนาคตการเมืองของศรีลังกายังคงต้องติดตามต่อไป แต่หากท้ายที่สุด “มหินทา ราชปักษา” เพื่อนสนิทชิดใกล้จีนได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจริง คาดหมายว่าทุนจีนจะไหลทะลักเข้ามาในศรีลังกามากขึ้นอีก