สารพัดปัญหา ศก.จีน นอกจาก “สงครามการค้า”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ภาพของเศรษฐกิจจีนโดยรวม ๆ แล้วถือว่ายังขยายตัวได้อยู่ แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวในระดับต่ำที่สุดในรอบหลายปีก็ตามที สงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลให้สินค้าออกของจีน มูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ ถูกเรียกเก็บภาษีขาเข้าโดยทางการอเมริกันเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนจะยังไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ในเวลานี้ หากยึดถือตามตัวเลขปริมาณการส่งออกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ยังขยายตัวแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้นถึง 16 เปอร์เซ็นต์

แต่สภาพการณ์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในทางหนึ่งเป็นเพราะเมื่อถึงสิ้นเดือนธันวาคม พิกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนเหล่านั้นของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่ยังไม่มีการทำความตกลงใด ๆ กันเกิดขึ้น

ปัญหาดังกล่าวเพียงลำพังอาจไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของจีนโดยรวมมากนัก เว้นเสียแต่ว่าจีนเองในยามนี้มีสารพัดปัญหาคาราคาซังที่ยังแก้ไม่ตกอยู่ก่อนแล้วมากมาย และพิกัดภาษีของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในอนาคตอันใกล้ ยิ่งจะทำให้หลายปัญหาที่มีอยู่ก่อนแล้วเหล่านั้นหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นไปอีก

เกราร์ด เบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารเนชั่นแนล ออสเตรเลีย ระบุว่า ปัญหาใหญ่สุดของจีนในเวลานี้ก็คือ ปัญหาหนี้ ที่ยิ่งนับวันยิ่งพอกพูนเพิ่มขึ้นทุกที จนเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจรวมทั้งหมดของจีนแล้ว ปริมาณหนี้ในระบบการเงินของจีนในเวลานี้สูงกว่าขนาดเศรษฐกิจไปหลายเท่าตัวแล้ว

หนี้สินเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกถมลงไปกับการก่อสร้างสะพาน ถนน และสาธารณปโภคอื่น ๆ ซึ่งถือว่ามีผลตอบแทน แต่ยังมีอีกจำนวนมหาศาลที่ไปลงเอยอยู่ในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต อย่างเช่น ไปตกอยู่กับกิจการวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งหลาย ในขณะที่ภาคเอกชนที่มีพลวัตสูงกว่ากลับไม่ได้รับประโยชน์เท่าใดนัก

โมเดลการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้นพึ่งพาหนี้สินสูงมาก ดังนั้นในปลายปีที่ผ่านมา เมื่อทางการจีนพยายามแก้ปัญหาระดับหนี้สูงเช่นนี้ ซึ่งกลายเป็นที่มาที่ทำให้เศรษฐกิจชะงัก ขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบหลายปีอยู่ในเวลานี้

ภาวะหนี้สูง ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอการเติบโต ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนไม่เชื่อว่า คำประกาศของทางการจีนที่ว่าจะปฏิรูปภาคการเงินของตนให้เข้าสู่มาตรฐานตะวันตก จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เหตุผลก็คือ ถ้าทำกันจริง ๆ บรรดารัฐวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของมณฑลท้องถิ่นหลายแห่ง จะตกอยู่ในสภาพเหมือนคนสำลักน้ำในทันที

เควิน ไหล นักเศรษฐศาสตร์ของไดวา แคปิตอล มาร์เก็ต วาณิชธนกิจชื่อดังระบุว่า ถ้าตัดสินเชื่อเหล่านี้ออกไป

ผลกระทบในทางลบหลายอย่างจะเกิดตามมา ตั้งแต่การชุมนุมประท้วง การลอยแพแรงงาน และที่หนักหนาคือ การล้มละลาย ซึ่งเป็นภาพที่ทางการจีนเองไม่อยากเห็นอย่างยิ่ง

ในเวลาเดียวกันนั้น จีนยังมีปัญหาไม่น้อยเรื่องค่าเงินหยวน ที่ได้รับแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจของจีนเอง บวกกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ทำให้อ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ นับตั้งแต่มกราคมนี้เท่านั้น

เงินหยวนอ่อนค่าลง ช่วยการส่งออกของจีนเพราะทำให้สินค้าจีนราคาถูกลง เป็นการดูดซับผลกระทบจากสงครามการค้าได้ก็จริง แต่ที่ผ่านมาการอ่อนค่าลงมากและเร็วก็เคยก่อปัญหาหนักให้จีนมาแล้วในช่วงระหว่างปี 2015-2016 เพราะทำให้นักลงทุนพากันหอบเงินลงทุนหนีออกจากตลาดจีน กดดันจนทางการจีนต้องใช้เงินทุนสำรองมหาศาลมาพยุงค่าเงินของตัวเอง

มนู ภาสการัณ นักวิเคราะห์ของเซนเทนเนียล เอเชีย ระบุว่า ทางการจีนเริ่มกลับมาแทรกแซงตลาดเงินอีกครั้งแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เหตุผลเป็นเพราะการอ่อนค่าของเงินหยวนอาจวนเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุดได้ เพราะยิ่งหยวนอ่อนค่าลง เงินยิ่งไหลออกมากขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินให้อ่อนค่าลงต่อเนื่องไปอีกนั่นเอง

ปัญหาสุดท้าย คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในสามภาคธุรกิจที่สดใสที่สุดในปีนี้ของจีน เริ่มแสดงให้เห็นถึงภาวะ “ฟองสบู่” เช่นเดียวกัน

ไอเดน เยา นักเศรษฐศาสตร์ประจำแผนกเศรษฐกิจใหม่ของแอกซา อินเวสต์เมนต์ แมเนเจอร์ชี้ว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ๆ เริ่มส่งสัญญาณดังกล่าว ด้วยการปรับลดราคาลงขนานใหญ่ เมื่อดีมานด์เริ่มถดถอยแล้ว

ดิเร็ค ซิสเซอร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจีนจากสถาบันอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์ชี้ว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาฉับพลันที่ส่งผลให้เศรษฐกิจวูบลงทันทีทันใด แต่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งรวมถึงปัญหาการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ที่ทางการจีนแก้ปัญหา “ช้าไป และน้อยเกินไป” อยู่ในเวลานี้

ซิสเซอร์ยืนยันต่อไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า เศรษฐกิจไหนก็ตามที่ชราภาพเกินไป เป็นหนี้สินมากเกินไป ไม่มีวันเติบใหญ่ขยายตัวแน่นอน