ชาติเอเชีย “ใครได้-ใครเสีย” สมรภูมิ “สงครามการค้า” จีน-มะกัน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ
โดย นงนุช สิงหเดชะ

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จะก่อให้เกิดการปั่นป่วนของห่วงโซ่อุปทานโลกครั้งใหญ่ เมื่อสองยักษ์ทางเศรษฐกิจของโลกพยายามหย่าขาดจากกันจากที่เคยแนบแน่น สหรัฐบีบคั้นจีนด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนไปหลายระลอก และจะเพิ่มอัตราภาษีอีกเป็นระยะ เป็นการบีบให้บริษัทต่าง ๆ ต้องย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ประเทศใดที่ส่งออกไปจีนมาก ย่อมจะได้รับผลกระทบด้านลบมากกว่าใครเพื่อน

การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลก มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ข้อมูลของ “ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” (EIU) องค์กรทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลแก่องค์กรธุรกิจและรัฐบาลระบุว่า ชาติในเอเชียนั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะสร้างความชะงักงันระยะสั้นในวงกว้าง เพราะห่วงโซ่อุปทานในเอเชียนั้น “ถักทอเข้าด้วยกัน” แต่ในระยะยาวหลายประเทศในภูมิภาคนี้จะได้ประโยชน์EIU ได้แบ่งประเทศในเอเชียออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มที่ได้ประโยชน์มาก 2.กลุ่มที่ได้ประโยชน์ปานกลาง และ 3.กลุ่มที่จะเกิดการชะงักงันหรือเสียประโยชน์กลุ่มที่ได้ประโยชน์มากได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม กลุ่มได้รับประโยชน์ปานกลาง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย ส่วนกลุ่มที่จะเกิดการชะงักงันคือ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน

นิก มาร์โร นักวิเคราะห์ของ EIU บอกว่า สมรภูมิสู้รบในสงครามการค้าที่ดุเดือดอยู่ใน 3 อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ยานยนต์ และเกษตร โดยเวียดนาม มาเลเซีย ไทย จะได้รับประโยชน์ระยะยาวในอุตสาหกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มาเลเซีย และเวียดนามจะได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับล่าง อาทิ ส่วนประกอบขั้นกลางและการผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภคอย่างโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีถือว่ามีบทบาทสำคัญในสงครามการค้า โดยจะเห็นว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเป็นสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนมากที่สุด อีกทั้งสหรัฐต้องการสกัดแผน “เมดอินไชน่า 2025” ของจีน

ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ไทย และมาเลเซีย จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ เพราะสหรัฐเป็นผู้บริโภคชิ้นส่วนรายใหญ่ที่สุดของโลก การขึ้นภาษีสินค้าจากจีนจะทำให้บริษัทรถยนต์ย้ายฐานการลงทุนและเปลี่ยนไปใช้ห่วงโซ่อุปทานประเทศอื่นที่อยู่ใกล้จีน ซึ่งไทยได้ประโยชน์เพราะความเชื่อมโยงการค้ามีการกระจายความเสี่ยงได้ดี มีทั้งการค้ากับสหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งจีน

ด้านมาเลเซีย มีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อยู่มากกว่า 800 บริษัท และมีการกระจายเครือข่ายการส่งออกเป็นอย่างดี จึงได้รับประโยชน์มาก

สำหรับประเทศในเอเชียที่เสียประโยชน์ ล้วนเป็นกลุ่มที่ส่งออกไปจีนสูง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกหลักสินค้าขั้นกลางและสินค้าไอซีทีขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ไต้หวันและเกาหลีใต้อาจได้รับการปกป้องจากผลกระทบเนื่องจากทั้งสองประเทศล้วนอยู่ในตำแหน่งที่มั่นคงในระบบห่วงโซ่อุปทานเพราะมีความเชี่ยวชาญในการผลิตอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำสูง

สหรัฐอเมริกาจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนไปแล้วมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะเก็บภาษีเต็มตามมูลค่าที่นำเข้าจากจีน คือ 5 แสนล้านดอลลาร์

ปัจจุบันสองฝ่ายกำลังหาทางเจรจากันอีกรอบ โดยการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มประเทศ G20 ที่อาร์เจนตินาเดือนนี้ ซึ่งจะมีการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และทรัมป์ ได้รับการจับตามองมากว่าจะสามารถคลี่คลายความตึงเครียดได้หรือไม่