“ฟินแลนด์” เซฟโลก ศูนย์รียูส สู่สโตร์สินค้ามือ 2

ตั้งแต่ที่ทั่วโลกหันหน้าเข้าสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (circular economy) ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ “รีไซเคิล” ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น “ยุโรป” ซึ่งเป็นทวีปที่ตื่นตัวในเรื่องนี้มาก กำลังให้ความสนใจกับ “รียูสเซ็นเตอร์” (reuse center) โดยจะนำสิ่งของที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิล มาดัดแปลงซ่อมแซมเพื่อเพิ่มมูลค่า และนำออกจำหน่ายที่ “ซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้ามือ 2”

“แมคคินเซย์” บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกระบุว่า สหภาพยุโรป (อียู) เป็นกลุ่มประเทศที่มีการปรับตัวดีที่สุดในยุค “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เห็นได้จากการปรับปรุงนโยบายที่มุ่งเน้นการ “รีไซเคิล” ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตวัตถุดิบได้ปีละ 3% ทั้งประเมินว่า ในปี 2030 กระบวนการนี้จะช่วยให้ยุโรปประหยัดเงินในการซื้อวัตถุดิบถึง 600,000 ล้านยูโร และจะสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของอียูมากกว่า 1.8 ล้านล้านยูโร

รายงานของ “เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม” ระบุว่า กระบวนการ “รียูส” กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในทวีปยุโรป เนื่องจากยังมีสิ่งของมากมายที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และต้องใช้วิธีกำจัดด้วยการฝังดิน หรือเผาทำลาย โดยเฉพาะเสื้อผ้า ของใช้ภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่พฤติกรรมของคนยุโรปไม่นิยมซ่อมแซมเสื้อผ้า หรือของใช้อื่น ๆ เพราะค่าใช้จ่ายสูง

ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสิ่งของต่าง ๆ ในยุโรปสูง เมื่อเทียบกับในเอเชียและแอฟริกา ด้วยปัจจัยด้านค่าครองชีพ โดย “ฟินแลนด์” เป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับ “รียูสเซ็นเตอร์” เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำมาซ่อมแซมและจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้ามือ 2 ที่ชื่อว่า Kierratyskeskus ซึ่งจะมีสินค้าหลากหลายตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า หนังสือ ของเล่น ของใช้ภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์

ความน่าสนใจของรียูสเซ็นเตอร์ในฟินแลนด์ นอกจากจะช่วยจัดการกับสินค้าขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เฉลี่ยปีละ 50 ล้านกิโลกรัม ยังสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อนำมาเป็นค่าตอบแทนให้กับพนักงานของศูนย์ โดยรียูสเซ็นเตอร์จะจ้างงานกลุ่มคนว่างงานที่มีฝีมือ โดยไม่จำกัดอายุและเพศ

นอกจากนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ต Kierratyskeskus ยังมีช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ทั้งมีแผนจะขยายซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งใหม่ในปีหน้า จากปัจจุบันมีทั้งหมด 7 สาขา

ปัจจุบันมีอีกหลายประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ที่สนใจจะเปิดศูนย์รียูส และกำลังศึกษาโมเดลของฟินแลนด์ รายงานข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า “สวีเดน” กำลังตามรอยฟินแลนด์ ซึ่งกลายเป็นประเทศที่สองในทวีปยุโรปที่มีทั้งศูนย์รียูสและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ที่ชื่อว่า “Lakarmissionen” ซึ่งปัจจุบันมี 2 สาขาในสตอกโฮล์ม

รวมทั้งรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ก็เป็นอีก 2 ประเทศที่เปิด “ศูนย์รียูส” เพื่อการเรียนรู้ โดยจะเน้นเป็นกิจกรรมเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งแต่ละปีจะมีนักเรียนและนักศึกษาหลายหมื่นคนมาทำกิจกรรมในศูนย์ เช่น วิธีการซ่อมแซมเสื้อผ้า หรือ DIY และการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเศรษฐกิจหมุนเวียนของศูนย์รียูสในสหรัฐกล่าวว่า “มิชิแกนเป็นหนึ่งในรัฐที่มีสินค้าขยะจำนวนมาก ซึ่งการรียูสสิ่งของต่าง ๆ สามารถช่วยเปลี่ยนของที่ใช้แล้วให้มีมูลค่าได้มากกว่า 1,200 ตันต่อเดือน และเชื่อว่ากระบวนการรีไซเคิลขยะอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่การรียูสสิ่งของเพื่อเพิ่มมูลค่าก็จำเป็น และจะเริ่มมีบทบาทต่อโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ”