มีหรือไม่มี “สงครามการค้า” ระยะยาว “หยวน” ผงาดแน่

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

นับจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เปิดศึกการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปแล้ว 2.5 แสนล้านดอลลาร์ อันมีเป้าหมายเพื่อสกัดการผงาดขึ้นของจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการคาดหมายว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง และนั่นก็จะลดอิทธิพลของจีนในระดับโลกไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน ผลจากสงครามการค้าก็ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงโดยอัตโนมัติ ถึงแม้ล่าสุดทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยุติสงครามการค้าชั่วคราว 90 วัน แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าสงครามของสองมหาอำนาจจะจบลงด้วยดี

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสงครามการค้า เป็นที่ชัดเจนว่าเงินหยวนของจีนมีแนวโน้มจะกลายเป็นสกุลเงินที่ทรงอิทธิพลระดับโลกในระยะยาว เพราะถึงแม้จีนจะยังคงควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุน แต่ก็เริ่มปฏิรูประบบการเงินอย่างช้า ๆ เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรมากขึ้น หากจีนยังคงเปิดระบบการเงินต่อไปเรื่อย ๆ และผลักดันให้มีการใช้เงินหยวนในระดับนานาชาติ การไหลเวียนของเงินหยวนในระดับโลกก็จะมากขึ้น

ฉี โล่ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบีเอ็นพี พาริบาส์ แอสเสต แมเนจเมนต์ในฮ่องกง ระบุว่า ในระยะประมาณ 20-30 ปีข้างหน้าเงินหยวนจะมีความสำคัญระดับโลก หากจีนยังคงเปิดให้เงินทุนต่างชาติเข้าไปในประเทศผ่านการเปิดระบบการเงินแบบเลือกสรร (selective financial opening) และเดินหน้าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หากมองไปตามทิศทางนี้ไม่มีทางที่เงินหยวนจะอ่อนค่า เพราะถ้าคนมองว่าในระยะยาวเงินหยวนจะอ่อนลง ป่านนี้ก็คงไม่มีใครยอมรับเงินหยวนและไม่สามารถเป็นสกุลเงินระดับโลกได้

ทางด้านเอชเอสบีซี ออกรายงานในเรื่องเดียวกันว่า ตลาดและนักลงทุนโฟกัสไปที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อค่าเงินหยวน แต่เอชเอสบีซีเชื่อว่าการที่จีนค่อย ๆ เปิดระบบการเงินสู่โลกภายนอก มีความสำคัญต่อทิศทางของเงินหยวน รวมทั้งสร้างอิทธิพลแบบยืนยงให้กับเงินหยวนมากกว่าสงครามการค้า

เอชเอสบีซีเน้นว่า การเปิดตลาดของภาคการเงินจีนจะเร่งตัวมากขึ้นในปีนี้ เห็นได้จากพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติขึ้นไปแตะจุดสูงสุดตลอดกาล ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติยังซื้อหุ้นและพันธบัตรของจีนน้อยกว่าหลายประเทศ ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากหากจีนยังคงเดินหน้าเปิดภาคการเงินต่อไป บริษัทเชื่อว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกหลายปีสำหรับการปรับสมดุลใหม่ของพอร์ตการลงทุนระดับโลก

ผู้เชี่ยวชาญระบุอีกว่า จีนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้นหลังจาก MSCI ซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนีระดับโลกนำตลาดหุ้นจีนเข้าคำนวณในดัชนี MSCI ประเภทตลาดเกิดใหม่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน พันธบัตรในประเทศของจีนกำลังจะถูกนำเข้าไปรวมอยู่ในดัชนี “บลูมเบิร์ก-บาร์เคลย์ โกลบอล แอ็กริเกต” ในเดือนเมษายนปีหน้า

ปัจจัยเสริมอีกประการหนึ่งก็คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยอมรับเงินหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้าสิทธิถอนเงินพิเศษ (เอสดีอาร์) เมื่อปลายปี 2559 ทำให้กลายเป็นสกุลเงินที่ 5 ต่อจากดอลลาร์สหรัฐ เยนของญี่ปุ่น ปอนด์ของอังกฤษ และยูโรที่ได้เข้าไปอยู่ในตะกร้าเอสดีอาร์ ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของจีนหลังจากพยายามผลักดันมานานเพื่อก้าวสู่สกุลเงินระดับโลก

แม้ว่าความนิยมในการใช้ระหว่างประเทศ จีนจะยังตามหลังสกุลหลักอื่น ๆ ก็ตาม ซึ่งตามรายงานของ SWIFT อันเป็นระบบโอนเงินระดับโลก ระบุว่า ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามูลค่าการใช้เงินหยวนชำระค่าบริการทั้งในและระหว่างประเทศอยู่อันดับ 6 ตามหลังดอลลาร์แคนาดา

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!