ศาลยุโรปชี้ “อังกฤษ” เปลี่ยนใจเลิก “เบร็กซิท” ฝ่ายเดียวได้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศาลยุติธรรมยุโรปมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วในวันจันทร์(10 ธ.ค.)นี้ว่า อังกฤษสามารถเปลี่ยนใจที่จะยกเลิก “เบร็กซิท” หรือ การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)แต่เพียงฝ่ายเดียวได้โดยไม่ต้องปรึกษาหารือถึงการตัดสินใจดังกล่าวกับรัฐภาคีสมาชิกอื่นๆของอียูได้

คำตัดสินนี้ถือเป็นชัยชนะของกลุ่มฝักใฝ่อียูที่คัดค้านการเบร็กซิท และมีขึ้นก่อนหน้าที่รัฐบาลนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะผลักดันร่างข้อตกลงเบร็กซิท เข้าสู่การโหวตเพื่อผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมสภาสามัญหรือสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษที่จะมีขึ้นในวันอังคาร(11 ธ.ค.)นี้ตามเวลาท้องถิ่น

“สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) มีอิสระที่จะยกเลิกการแจ้งเจตจำนงที่จะถอนตัวออกจากอียูแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ซึ่งการยกเลิกดังกล่าวที่เป็นการตัดสินใจซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญแห่งชาติของตนเอง จะมีผลให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในอียูภายใต้เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสถานะรัฐสมาชิกที่มีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง” ศาลยุติธรรมยุโรประบุ

ทั้งนี้หลังจากผลการลงประชามติของชาวอังกฤษในปี 2016 อังกฤษได้ประกาศเจตจำนงที่จะถอนตัวออกจากอียู หรือการเบร็กซิทไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้มีการดำเนินการตามมาตรา 50 ในอนุสัญญาอียู ที่จะนำไปสู่การถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษภายในเวลา 2 ปีนับจากวันแจ้งเจตจำนง หรือก็คือวันที่ 29 มีนาคมปี 2562 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดีรัฐบาลนางเมย์ยืนยันที่จะเดินหน้ากระบวนการเบร็กซิทต่อไปและได้บรรลุความเห็นพ้องในร่างข้อตกลงเบร็กซิทกับรัฐสมาชิกอียูที่เหลือ 27 ประเทศไปเมื่อเร็วๆนี้แล้ว และนางเมย์กำลังจะนำเสนอร่างข้อตกลงเบร็กซิทดังกล่าวเข้าสู่สภาสามัญเพื่อโหวตผ่านความเห็นชอบในวันอังคารนี้

ข่าวแจ้งว่า คำตัดสินนี้ของศาลยุติธรรมยุโรปได้รับการขานรับด้วยความยินดีจากกลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป ที่ต้องการให้รัฐบาลอังกฤษจัดประชามติใหม่เพื่อให้ล้มเลิกการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ

อย่างไรก็ดีนายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอังกฤษ หนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่หนุนเบร็กซิทกล่าวยืนยันกับบีซีซีว่า เราต้องการที่จะอยู่ในอียู เราได้โหวตกันอย่างชัดเจนแล้ว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์