ความแตกแยกของ “โอเปก” “อำนาจต่อรอง” ลดลง ?

การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่กรุงเวียนนาในวันที่ 6-7 ธ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อน “ความแตกแยก” ในกลุ่มสมาชิกโอเปกที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่ “กาตาร์” กำลังนับถอยหลังการถอนตัวออกจากสมาชิก 1 ม.ค.ปี 2019

รอยเตอร์สรายงานว่า ความไม่เป็นเอกภาพของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) ปรากฏขึ้นตั้งแต่ที่ “กาตาร์” ประกาศเตรียมจะถอนตัวออกจากการเป็นภาคี โดยกาตาร์เตรียมจะออกจากการเป็นสมาชิกปีหน้า ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลต้องการให้ความสำคัญกับการผลิต “ก๊าซธรรมชาติเหลว” อย่างเต็มตัว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันโลกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่ามีความแคลงใจจากสมาชิกโอเปกไม่น้อยกับเหตุผลการถอนตัวของกาตาร์ เพราะเชื่อว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับ “การเมือง” กับประเทศอาหรับ

มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะเห็นว่าประเทศสมาชิกบางรายเดินตามรอยของกาตาร์ ขณะที่ดีมานด์การใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต

ความแตกแยกในกลุ่มโอเปก ยังเห็นได้จากคำกล่าวของนายบิจาน ซานกาเนห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันอิหร่าน ยืนยันว่าอิหร่านไม่ต้องการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยอ้างการถูกสหรัฐคว่ำบาตร ทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้นในหลายเดือนก่อน

พร้อมกล่าวว่า ปัญหาปริมาณน้ำมันที่ล้นตลาด ไม่ใช่ความรับผิดชอบของอิหร่านแต่เป็นความรับผิดชอบของประเทศที่ผลิตน้ำมันมากเกินไป จนทำให้ราคาน้ำมันทรุดตัวลง

“อเล็กซานเดอร์ โนวัค” รัฐมนตรีด้านพลังงานรัสเซีย กล่าวก่อนวันประชุมว่า ในช่วงฤดูหนาวรัสเซียมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตน้ำมันเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุผลที่จะต้องพิจารณาการปรับลดอย่างถี่ถ้วน เพราะโอเปกเรียกร้องการปรับลดสูง

ทั้งนี้ นายมาร์ติน แฟรนเคล ประธานเอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ มองว่าปัจจุบันสหรัฐอยู่ในสถานะที่พร้อมจะเป็นผู้นำด้านพลังงานของโลก ดังนั้นความท้าทายใหญ่ของโอเปก น่าจะเป็นการรักษาเอกภาพในกลุ่มสมาชิก เพื่อใช้ถ่วงดุลอำนาจสหรัฐ

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!