ชะตากรรม “โมดี” เลือกตั้ง “อินเดีย” ปีหน้า

REUTERS/Adnan Abidi/File Photo

อนาคตของ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่ต้องการสานฝันขึ้นเป็นผู้นำสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ค. ปี 2019 อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด หลังผลการเลือกตั้งท้องถิ่นพ่ายคะแนนให้กับพรรคฝ่ายค้าน 3 รัฐในทั้งหมด 5 รัฐ

ไทมส์ ออฟ อินเดีย รายงานว่า ผลการนับคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา การเลือกตั้งท้องถิ่นใน 5 รัฐ ได้แก่ รัฐฉัตตีสครห์, รัฐมัธยประเทศ,รัฐราชสถาน, รัฐมิโซรัม และรัฐเตลังคานา พบว่า “พรรคภารติยะชนตะ”(บีเจพี) พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับ “พรรคคองเกรส” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของนายราหุล คานธี ใน 3 รัฐได้แก่ รัฐฉัตตีสครห์, รัฐมัธยประเทศ และรัฐราชสถาน เป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของนายโมดี ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2014

โดยคะแนนใน “รัฐฉัตตีสครห์” พรรคฝ่ายค้านคว้าที่นั่งสภาท้องถิ่นได้ 68 ที่นั่ง จากทั้งหมด 90 ที่นั่ง ขณะที่พรรครัฐบาลได้ไป 15 ที่นั่ง ส่วน “รัฐมัธยประเทศ” พรรคคองเกรสครองอันดับหนึ่ง คว้าที่นั่งสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ 114 ที่นั่ง ขณะที่พรรคบีเจพี รั้งมาเป็นอันดับ 2 ได้คะแนน 109 เสียง จากทั้งหมด 230 ที่นั่ง และ “รัฐราชสถาน” พรรคคองเกรสคว้าที่นั่งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ 100 ที่นั่ง จากทั้งหมด 199 ที่นั่ง ขณะที่พรรคบีเจพีคว้ามาได้ 73 ที่นั่ง

ทั้งนี้ นายนเรนทรา คูมาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru ในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมดใน 29 รัฐของอินเดีย มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. และ 20 พ.ย. จนล่าสุดเมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความนิยมของนายกฯโมดี ที่ลดลงมากขึ้น โดยเฉพาะกับ “กลุ่มเกษตรกร” คิดเป็นสัดส่วนใหญ่ถึง 60% ของประชากร เริ่มไม่มีความสุข และบางคนที่ไม่พอใจกับอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น สวนทางกับคำมั่นที่จะสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งต่อเดือน

“แอนิล เวอร์มา” หัวหน้าสมาคมปฏิรูปประชาธิปไตยในอินเดีย มองว่าการเสียที่นั่งให้กับพรรคฝ่ายค้านในหลายรัฐ เป็นความท้าทายใหญ่ที่จะเอาชนะการเลือกตั้งในปีหน้าได้ และยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายด้วย เพราะการผ่านข้อกฎหมายหรืองบประมาณต่าง ๆจะยากขึ้น

ขณะที่นานาชาติจับตามองหลายโปรเจ็กต์ที่ผู้นำกล่าวไว้เมื่อวันชาติอินเดีย โดยเฉพาะ “โมดีแคร์” เพราะเป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่สุดในโลก เพื่อช่วยเหลือชาวอินเดียกว่า 500 ล้านคน ด้วยวงเงินการรักษาครอบครัวละ 500,000 รูปี แม้ขณะนี้ได้เริ่มใช้แล้วใน 40 เมือง แต่ยังต้องการงบประมาณอีกมหาศาลในการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

ADVERTISMENT

“แอนิล” ยังกล่าวถึงการลาออกของ นายอุรุจิต ปาเทล ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย (อาร์บีไอ) ว่า เกิดจากความขัดแย้งกับผู้นำโมดี โดยรัฐบาลกลางพยายามแทรกแซง และลดอำนาจของธนาคารกลางลง ทั้งยังกดดันให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินก่อนการเลือกตั้งปีหน้า เช่น การนำงบประมาณสำรองบางส่วนไปชำระหนี้สาธารณะก่อน เป็นต้น

 

ADVERTISMENT

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!