เลื่อนลงมติ “เบร็กซิต” แผน “เทเรซา เมย์” บีบสภาโหวตผ่าน ?

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

ทั้งที่เคยสัญญาว่าจะไม่เลื่อนการนำข้อตกลงถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิต (Brexit) เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 11 ธันวาคม แต่จู่ ๆ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ประกาศปุบปับขอเลื่อนการลงมติออกไปก่อน โดยอ้างว่าจะกลับไปหารือกับอียูอีกรอบเพื่อขอคำยืนยันในประเด็นการจัดการและควบคุมพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรกับประเทศไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกอียู อังกฤษบรรลุข้อตกลงเบร็กซิตกับอียูไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากเจรจายืดเยื้อมานาน แต่ถึงกระนั้นส.ส.หลายคนที่สนับสนุนเบร็กซิต โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการให้ออกจากอียูชนิดแทบไม่เหลือความสัมพันธ์ใดกับอียู (hard Brexit) ยังคงแสดงท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขบางอย่างที่นางเมย์ไปตกลงกับอียู เนื่องจากเห็นว่ายังคงทำให้อังกฤษผูกติดกับอียู ซึ่งประเด็นที่ถูกต่อต้านมากที่สุดและเสี่ยงจะทำให้สภาไม่โหวตผ่านก็คือ เงื่อนไขที่กำหนดว่ากรณีที่อังกฤษและอียูไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 21 เดือนหลังเบร็กซิตจะยอมให้ไอร์แลนด์เหนือปฏิบัติตามระเบียบของอียูเช่นเดิม นั่นคือ สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชนได้อย่างเสรีโดยไม่มีการตั้งด่านศุลกากรหรือด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือที่เรียกว่า backstop

การมี backstop ก็เพื่อป้องกันภาวะ hard border หรือการควบคุมพรมแดนเข้มงวดโดยใช้เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตำรวจและทหาร ระหว่างชายแดนไอร์แลนด์เหนือและประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งมีความยาวเกือบ500 กิโลเมตร แต่การมี backstopก็เท่ากับอนุญาตให้ไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์กับอียูแตกต่างไปจากส่วนอื่น ๆ ของสหราชอาณาจักร

การที่นายกฯอังกฤษกลับไปขอแก้ไขข้อตกลงกับอียูอีกรอบ ไม่มีหลักประกันความสำเร็จ เพราะสมาชิกอียูรวมทั้งนายกรัฐมนตรีของไอร์แลนด์ได้ย้ำหลายรอบว่าจะไม่มีการเจรจาใด ๆ อีก สิ่งที่ตกลงกันไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนถือว่าดีที่สุดแล้ว

การลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ที่เดิมกำหนดไว้วันที่ 11 ธันวาคมถือเป็นการลงมติที่สำคัญและทรงความหมายมาก เพราะหมายถึงการชี้เป็นชี้ตายความสำเร็จหรือล้มเหลวของเบร็กซิต รวมทั้งต่ออนาคตทางการเมืองของนางเมย์ เมื่อหยั่งกระแสแล้วว่ามีแนวโน้มจะไม่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร จึงมีผู้แนะนำให้นางเมย์เลื่อนการลงมติ

การเลื่อนลงมติของนางเมย์สร้างความงง สับสน และกระทั่งโกรธให้กับบรรดา ส.ส.ฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิต พร้อมกับตำหนิว่านางเมย์วิ่งหนีปัญหา แต่นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าการเลื่อนลงมติอาจเป็นการบีบให้สภาโหวตให้ความเห็นชอบ เพราะระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนถึงเส้นตายในการออกจากอียูคือ 29 มีนาคม 2019 เหลือน้อยแล้ว หากฝ่ายต่อต้านนางเมย์ไม่ยอมโหวตผ่านหรือขอให้แก้ไขใด ๆ อีกก็จะไม่มีเวลาเพียงพอให้ทันเส้นตาย หมายถึงจะเป็นการออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลง (no deal Brexit) อันเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดสำหรับอังกฤษ และจะสร้างความเสียหายมาก ซึ่งบรรดา ส.ส.กลัวสถานการณ์นี้มากที่สุด

เชื่อกันว่านางเมย์จะนำข้อตกลงเบร็กซิตเข้าสู่การลงมติของสภาอีกครั้งในช่วงใกล้เส้นตายเบร็กซิต เมื่อบรรดา ส.ส.กลัวภาวะ no deal Brexit ก็มีความเป็นไปได้ที่จะพากันยอมยกมือให้ผ่าน เพราะขณะนี้เริ่มมี ส.ส.บางคนออกมาพูดแล้วว่า ยิ่งช้านานออกไปยิ่งเสี่ยงต่อ no deal Brexit และสร้างความเสียหายต่อทุกคน ดังนั้น ถึงแม้ข้อตกลงจะไม่เปอร์เฟ็กต์ก็จะยอมโหวตผ่าน

ทว่า การเลื่อนลงมติเบร็กซิตก็อาจจะสร้างปัญหาใหม่ให้นางเมย์ เพราะเริ่มมีกระแสข่าวว่า ส.ส.จำนวนหนึ่งเตรียมล่ารายชื่อเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนางเมย์

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!