“เจโทรฯ” ยกทัพบริษัทญี่ปุ่น เดินหน้า 8 โครงการนำร่องบ่มเพาะอุตสาหกรรมใหม่ในไทย

เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ แถลงกับสื่อมวลชน ในระหว่างงานแถลงผลการดำเนินการ โครงการความร่วมมือนำร่องระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเพื่อบ่มเพาะอุตสาหกรรมใหม่

โดยโครงการดังกล่าวอยู่และมุ่งเน้นที่การสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทในญี่ปุ่น และบริษัทในประเทศอาเซียนทั้งหมด 18 โครงการ

ประธานเจโทร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิดของรัฐบาลญี่ปุ่น “การเชื่อมโยงอุตสาหกรรม” ในการจัดทำโครงการนำร่องในอาเซียนทั้งหมด 18 โครงการ สำหรับประเทศไทย เบื้องต้นบริษัทของญี่ปุ่นเข้ามาจัดทำโครงการบ่มเพาะอุตสาหกรรมในไทยทั้งหมด 8 โครงการนำร่อง ซึ่งมากที่สุดในประเทศสมาชิกอาเซียน

โดยประกอบด้วย 1. ระบบลีนออโตเมชั่น เพื่อใช้สำหรับภาคการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์ มุ่งเน้นที่การเปิดศูนย์อบรมบุคลากรให้มีศักยภาพในการควบคุมหุ่นยนต์ โดยบริษัทเดนโซ (Denso) 2. โครงการดูแลสุขภาพสำหรับคนไทย เช่น บริการเจาะเลือดและส่งไปยังศูนย์ตรวจเลือดด้วยตนเอง โดยบริษัทฟูจิฟิล์ม (FUJIFILM)

3. โครงการยาเวชชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม โดยบริษัทฟูจิฟิล์ม ซึ่งขณะนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการด้วย 4. การให้บริการระบบแชร์โรงงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น ศึกษาโดยบริษัท ฮิตาชิ ไฮเทคโนโลยี ขณะที่ฝั่งไทยบริษัทศรีไทย และนิคมอมตะแสดงความสนใจ

5. การเพาะเลี้ยงฟาร์มกุ้งโดยใช้ IoT โดยบริษัท Internet Initiative Japan 6. การสร้างระบบสมาร์ทซัพพลายเชนระหว่างประเทศเพื่ออุตสาหกรรมข้ามพรมแดน โดยบริษัท โคจิม่า อินดัสตรีส์ (Kojima Industries) 7. ระบบแนะนำเส้นทางขั้นสูง ซึ่งจะใช้ระบบดาวเทียมแบบสามารถลงรายละเอียดได้มากกว่าเดิม โดยบริษัท โตโยต้า สึโช (Toyota Tsusho) 8. ระบบสมาร์ทโลจิสติกส์ แบบเรียลไทมส์ สำหรับสินค้าผ่านแดนอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นฮับการขนส่งทางบกของอาเซียน ซึ่งศึกษาโครงการโดยบริษัท เอ็นทีที ดาต้า (NTT Data)

นายฮิโรกิ กล่าวด้วยว่า อนาคตการลงทุนของบริษัทของญี่ปุ่นจะเน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้ง 8 โปรเจ็กต์ดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ชัดเจนขึ้นภายในปี 2019 หลังจากที่ผู้แทนในแต่ละบริษัทของญี่ปุ่นได้สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า โครงการนำร่องดังกล่าวหากเกิดขึ้นได้จริง จะช่วยยกระดับคุณภาพให้กับประเทศไทยมากขึ้น ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาการอย่างมากในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์

ทั้งกล่าวยกตัวอย่างถึง โครงการ Shared Factory หรือการแชร์โรงงาน มีภาคเอกชนไทยเข้าร่วมแล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นั่นคือ “กลุ่มอมตะ” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ของญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย จะช่วยลดภาระในด้านค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น การเช่าพื้นที่ออฟฟิศทำงาน หรือ การลงทุนในเครื่องมือต่างๆ เพราะบริการดังกล่าวจะเปิดให้เช่าใช้เครื่องจักรภายในนิคมฯ และถือว่าเป็นการเริ่มต้นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จากทั้งหมด 8 โครงการ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!