ฝรั่งเศสนำร่อง ‘ภาษีดิจิทัล’ ไล่ล่า ‘ยักษ์เทคโนโลยี’

REUTERS/Dado Ruvic

ขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ “ยุค 5G” นั่นหมายถึงอำนาจของเหล่า
บริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีจะมากขึ้นตาม การเรียกเก็บ “ภาษีดิจิทัล” จึงเป็นเรื่องใหญ่ในหลายประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือกันหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

บีบีซีรายงานว่า ปัจจุบันกฎหมายของอียูอนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติรายใหญ่ของโลก สามารถบันทึกรายได้ทั้งหมดไว้ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งก็ได้ในอียู ทำให้บริษัทส่วนใหญ่เลือกที่จะเปิดสำนักงานในประเทศที่จัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ เช่น ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สาธารณรัฐเช็ก และฟินแลนด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอร่างกฎหมายภาษีดิจิทัล อยู่ที่ 3% ของรายได้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ โดยหลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มสมาชิกทั้ง 28 ชาติได้หารือร่วมกันมาแล้วหลายครั้งถึงแนวทางการเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มจากกลุ่ม “GAFA” คือ Google, Apple, Facebook และ Amazon เพราะจัดอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้รวมทั่วโลกกว่า 750 ล้านยูโรต่อปี และมีรายได้ในอียูเกินกว่า 50 ล้านยูโรต่อปี

อย่างไรก็ตาม การหารือระหว่างชาติ
สมาชิกอียูยังไม่ลงรอยกัน เพราะกลุ่มประเทศเล็ก ๆ ที่ได้ผลประโยชน์จากการที่บริษัทข้ามชาติเหล่านี้มาเปิดสำนักงานกังวลว่า หากมาตรการเก็บภาษีดิจิทัลที่ 3% อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้ง 28 ประเทศ อาจจะทำให้เสียเปรียบชาติสมาชิกใหญ่ ๆ เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งจะทำให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ยอมไปเสียภาษีในแต่ละประเทศที่เกิดธุรกรรมทางธุรกิจ ขณะที่บางฝ่ายมองว่าจะทำให้เกิดการเก็บภาษีที่ซับซ้อนในกลุ่มอียู และอาจเป็นการละเมิดกฎการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้สหรัฐอเมริกาเปิดฉากตอบโต้อียู

ด้วยความหวังอันริบหรี่ที่อียูจะสามารถบรรลุข้อกฎหมายภาษีดิจิทัลได้ภายในปีนี้ ทำให้ “ฝรั่งเศส” ประกาศความเคลื่อนไหวล่าสุดว่า “จะไม่รออียูอีกต่อไป” นายบรูโน เลอแมร์ รัฐมนตรีการคลังฝรั่งเศส กล่าวเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมายืนยันว่า ฝรั่งเศสจะเดินหน้าเก็บภาษีดิจิทัลกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2019 เป็นต้นไป

ทั้งคาดว่าในปี 2019 ฝรั่งเศสจะมีรายได้จากส่วนนี้ราว 500 ล้านยูโรต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทใหญ่จะต้องจ่ายภาษีรายได้จากโฆษณาของบริษัทและภาษีการขายข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะเดียวกัน “เยอรมนี” ยืนยันว่า จะเริ่มการจัดเก็บภาษีดิจิทัลที่ 3% จากรายได้โฆษณาภายในปี 2019 หรือต้นปี 2020 หากอียูยังไม่มีข้อสรุป โดย นายโอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีการคลังของเยอรมนี กล่าวว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังสร้างปัญหาการเงินใน
ระบบโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพราะโยกย้าย
ผลกำไรจากภายในประเทศออกนอกภูมิภาคยุโรป ขณะที่แนวโน้มที่สมาชิกอียูจะบรรลุกฎหมายภาษีดิจิทัลภายในปีนี้ค่อนข้างยาก

ด้าน นายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีการคลังของอังกฤษ กล่าวเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่าอยู่ระหว่างการรอลงมติของรัฐสภาอังกฤษ เพื่อเปิดทางให้จัดเก็บภาษีได้ภายในปี 2019 หรืออย่างช้าสุดในเดือน เม.ย.ปี 2020 โดยจะเก็บภาษี 2% ของรายได้ทั้งหมด จากบริษัทเทคโนโลยีที่มีรายได้ทั่วโลกเกินกว่า 500 ล้านปอนด์ต่อปี และคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้กว่า 400 ล้านปอนด์ต่อปี

นักวิเคราะห์จากองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) กล่าวว่า การหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในอียูขาดรายได้หลายพันล้านยูโร ทั้งถือเป็นการเอาเปรียบบริษัทคู่แข่งท้องถิ่นขนาดเล็กกว่า ขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ และคาดหวังว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีจะช่วยบรรเทาภาระของภาครัฐได้

นอกจาก 3 ประเทศดังกล่าวแล้ว “สเปนและอิตาลี” ก็ประกาศพร้อมร่วมผลักดันอียูให้ผ่านร่างกฎหมายภาษีดิจิทัล พร้อมเสนอเส้นตายให้ชาติสมาชิกอียูหาข้อสรุปร่วมกันภายใน มี.ค. ปีหน้า

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!