หัวเว่ยเจอศึกหนัก หลังนานาประเทศยุโรปแบนตามสหรัฐ – ชี้กังวลด้านความปลอดภัย

“หัวเว่ย” กำลังเผชิญศึกหนัก เมื่อ “ยุโรป” ในฐานะตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย เริ่มแสดงความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูล และบางประเทศดำเนินการยุติการใช้เครือข่ายของหัวเว่ย ภายหลังถูกแบนจากสหรัฐก่อน

รัฐบาลของประเทศในทวีปยุโรปบางประเทศและบริษัทเทเลคอมตามรอยสหรัฐในการตั้งคำถามถึงการใช้งานอุปกรณ์ของหัวเว่ยและเครือข่ายว่าจะมีการสอดส่องโดยรัฐบาลจีนหรือไม่

การแบนจากตลาดยุโรปจะส่งแรงกดดันต่อหัวเว่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากตลาดยุโรปมีท่าทีจะสร้างเครือข่าย 5G มูลค่ากว่าหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยขยายการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมากมาย ตั้งแต่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โรงงานหุ่นยนต์ ไปจนถึงการศัลยกรรม

หัวเว่ยถูกบล็อกในสหรัฐตั้งแต่ปี 2012 เมื่อได้รับรายงานความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยและแนะนำให้รัฐบาลและบริษัทเอกชนยุติการซื้ออุปกรณ์ของหัวเว่ย

“Deutsche Telekom” บริษัทสัญชาติเยอรมนีกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ได้อภิปรายระดับโลกเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครือข่ายผู้ผลิตสัญชาติจีนอย่างจริงจัง” ซึ่งหัวเว่ยเคยกล่าวว่า บริษัทสร้างเครือข่ายขึ้นจากหลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น “Ericsson” “Nokia” และ “Cisco”

ด้าน “British Telecom” ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออังกฤษ กล่าวว่า ได้นำอุปกรณ์หัวเว่ยออกจากเครืออข่าย 3G และ 4G ซึ่งถือเป็นหนึ่งนโยบายภายในที่ห้ามใช้หัวเว่ยกับโครงข่ายหลัก และจะประยุกต์ใช้กับเครือข่าย 5G

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษยังได้ทดสอบอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ของหัวเว่ยและพบความเสี่ยงใหม่ด้านวิศวกรรมของหัวเว่ย ขณะที่หัวเว่ยชี้แจงว่ากำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ส่วนกระทรวงโทรคมนาคมนอร์เวย์กล่าวว่า กำลังพิจารณาข้อกำหนดที่ชัดเจนจากผู้ให้บริการเครือข่าย

หน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของเบลเยี่ยมได้รายงานการพิจารณาการแบนหัวเว่ย ส่วนนายกรัฐมนตรีของสาธารณะรัฐเช็คสั่งให้รัฐบาลยุติการใช้โทรศัพท์หัวเว่ยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่าเป็นเรื่องการคุกคามความมั่นคง

ด้าน หัวหน้านโยบายด้านเทคโนโลยีของสหภาพยุโรป กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ต้องกังวลต่อความเป็นไปได้สำหรับความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ของหัวเว่ยต่อเครือข่าย 5G ในยุโรปและโครงการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1987 โดยวิศวกรทหาร ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าถูกชักใยโดยรัฐบาลจีน พร้อมทั้งระบุว่า บริษัทเองก็เป็นกังวลในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยและให้ความสนใจกับสิ่งที่ Deutsche Telekom แสดงความคิดเห็น

ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ต่างเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากจีน คิดเป็นสัดส่วนราว 27 % และสร้างรายได้เมื่อปีที่ผ่านมาราว 9 หมื่นล้านดอลลาร์

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!