ภาพรวมเศรษฐกิจเอเชีย ไร้ข่าวดี-มีแต่ทรงกับทรุด

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ภายใต้แนวโน้มง่อนแง่นของภาวะเศรษฐกิจโลก ภาพรวมของเศรษฐกิจในเอเชียส่งท้าย ปี 2018 ย่อมตุปัดตุเป๋ตามไปด้วย รอบด้านมีแต่ปัจจัยในทางลบ ชนิดที่หาข่าวดีเชิงบวกได้น้อยเต็มที ทำให้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดหมายว่า เศรษฐกิจรวม ๆ ของเอเชียอย่างดีที่สุดก็จะทรงตัวอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่องไปจนถึงอย่างน้อยไตรมาสแรกของปีหน้า เพื่อรอรับข่าวดี ซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในเอเชียไม่ได้เป็นเรื่องของความรู้สึกอีกต่อไป แต่เป็นภาพชวนให้วิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริง ที่ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขล่าสุดประจำเดือนพฤศจิกายนที่แสดงถึงระดับของกิจกรรมการผลิตและการส่งออกทั่วทั้งภูมิภาคที่อ่อนตัวลงอย่างชัดเจนและทั่วถึง ไม่เว้นแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่น

หลายคนชี้ว่า นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปมความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามการค้า ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันไปมา ความกังวลจากการลุกลามของลัทธิกีดกันทางการค้ากระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ผลิต ส่งผลให้กิจกรรมของผู้ผลิตลดลงส่งท้ายปี

ในประเทศน้อยใหญ่ทั้งหลายตั้งแต่อินโดนีเซีย ไต้หวัน ไปจนถึงเกาหลีใต้ แม้ว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน จะประกาศพักรบกัน 90 วันแล้วก็ตามที

นั่นเนื่องจากในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญทั่วไป ชี้ให้เห็นว่า การตกลงกันได้เพียงแค่นั้น แสดงให้เห็นว่าข้อตกลงที่เบ็ดเสร็จและรอบด้านจริง ๆ นั้นยังอยู่ห่างไกลมากจริง ๆ

ตัวเลขแสดงกิจกรรมของภาคโรงงานผลิตในจีนที่สำรวจโดยเอกชนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ขยับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่คำสั่งซื้อใหม่ ๆ กลับหดตัวลงสูงมาก สะท้อนถึงปัญหาความต้องการสินค้าจากทั่วโลกที่ลดลง ในขณะที่ดัชนีพีเอ็มไอ อย่างเป็นทางการของจีน แสดงให้เห็นว่า ภาคการผลิตของจีนกำลังทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบนานกว่า 2 ปีเลยทีเดียว

ในช่วงเดียวกัน กิจกรรมการผลิตในเกาหลีใต้ก็ติดลบอีกอย่างต่อเนื่อง เมื่อคำสั่งซื้อใหม่ ๆ ยังคงหดตัวลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของเกาหลีใต้ได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของอุปทานทั่วโลกสูงมาก

ข้อมูลการสำรวจการจัดซื้อของไอเอชเอส มาร์คิท แสดงให้เห็นว่า ระดับขยายตัวของการผลิตของญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายนนั้น เป็นระดับการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบกว่าปีที่ผ่านมา

สาเหตุมาจากการชะลอตัวของการสั่งซื้อเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้คาดกันว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสสุดท้ายของปีน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และมีแนวโน้มจะติดลบด้วยซ้ำไป ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการคาดหมายกันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสสุดท้ายของปีน่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวลงไป 1.2 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน

โทรุ ซูเอะฮิโร นักเศรษฐศาสตร์การตลาดของมิซูโฮ ซีเคียวริตี ชี้ว่า การหดตัวในไตรมาสที่ 3 ในความเป็นจริงน่าจะลงลึกมากกว่าตัวเลขที่ปรากฏ ความต้องการสินค้าจากภายนอก อ่อนลงมากตั้งแต่ต้นปีเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอลง ผลก็คือ คงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะแข็งแกร่งขึ้น

ในทรรศนะของซูเอะฮิโร เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะทรงตัวนิ่งต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ปัจจัยลบสำคัญที่รอคอยอยู่ในอนาคตอันใกล้ก็คือ ปัญหาสงครามการค้า กับสถานการณ์เบร็กซิต ที่อาจส่งผลสะเทือนต่อ 2 ตลาดใหญ่ซึ่งรองรับสินค้าจากเอเชีย รวมถึงปัญหาเงินทุนไหลออก ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค เมื่อดอลลาร์ถูกดึงกลับสู่สหรัฐอเมริกา

ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้สำหรับประเทศที่พึ่งพาการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญอย่างชาติในเอเชียส่วนใหญ่แล้ว ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่หลวงทั้งสิ้น

สงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ และเริ่มถล่มกันด้วยมาตรการทางภาษีศุลกากรและอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นหลังผ่านระยะ 90 วัน ซึ่งไม่เพียงเป็นความเสี่ยงใหญ่หลวงสำหรับเศรษฐกิจของเอเชียเท่านั้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพียงพอต่อการฉุดเศรษฐกิจของทั้งโลกให้ชะงักงันได้อีกด้วย

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!