เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดการประท้วงใหญ่ครั้งที่ 3 ในเกาหลีใต้ จากกลุ่มคนขับรถแท็กซี่นับแสนคนเพื่อต่อต้านบริการ “Kakao T Carpool” แอปพลิชั่นเรียกรถยนต์ส่วนตัวของบริษัทในเครือกาเกา (Kakao) ที่กำหนดจะเปิดตัวในปีหน้า นับเป็นความท้าทายสำหรับนโยบายของรัฐบาล ในฐานะประเทศเจ้าของเทคโนโลยีระดับท็อปของโลก
การประท้วงครั้งที่ 3 รุนแรงขึ้นมาก เทียบกับ 2 ครั้งก่อนหน้าในช่วงเดือนตุลาคมที่มีกลุ่มผู้ประท้วงราว 35,000 คนเท่านั้น แต่ครั้งนี้จำนวนผู้ประท้วงมากกว่า 100,000 คน ที่ออกมาต่อต้านบริการใหม่จากบริษัทกาเกา ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของเกาหลีใต้ กับแนวคิด ride-sharing ซึ่งกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2019
กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาถึงปัญหาการนำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาให้บริการ ซึ่งขัดต่อกฎหมายขนส่งของประเทศที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวสำหรับให้บริการเชิงพาณิชย์ แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นให้บางบริการสามารถทำได้ในชั่วโมงการเดินทางที่เร่งด่วน ซึ่งผู้ประท้วงมองว่าเป็นการเปิดทางให้บริษัทใหญ่เข้ามาทำธุรกิจแข่งขันและแย่งลูกค้า
รอยเตอร์สระบุว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้มีบริการรถแท็กซี่ดั้งเดิมอยู่เกือบ 300,000 คน ดังนั้นการเปิดทางให้กับธุรกิจเรียกรถต่าง ๆ ทั้งของบริษัทเกาหลีและต่างประเทศ อาจจะทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลายในตลาดเกาหลีได้
ความขัดแย้งนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว จากกรณีของ “อูเบอร์” จนสำนักงานใหญ่ของอูเบอร์ตัดสินใจถอดบริการ “UberX” ออกจากบริการในเกาหลีใต้ในปี 2015
ขณะที่ซีอีโอของอูเบอร์ยอมรับว่า “การเจาะตลาดธุรกิจการขนส่งในโซลถือว่าทำได้ยาก เมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชีย เพราะสหภาพแรงงานมีความเข้มแข็งมาก”
รวมถึงบริการจากบริษัท Luxi ซึ่งมีฮุนได มอเตอร์ส ถือหุ้น 12% แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และประกาศถอนตัวออกจากตลาดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายโจเซฟ ลิม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยยอนเซ และเป็นที่ปรึกษาด้านสตาร์ตอัพและนวัตกรรมขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในกรุงโซล กล่าวว่า เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย ทั้งเป็นประเทศที่มีการเข้าถึงสมาร์ทโฟนมากที่สุดในโลก แต่กลับไม่มีผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นมาก่อน เพราะสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ทั้งยังมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับธุรกิจขนส่ง
การประท้วงครั้งล่าสุดนี้เป็นความท้าทายใหญ่ของรัฐบาลในสมัยประธานาธิบดี มุน แจ อิน ซึ่งประกาศนโยบายเมื่อต้นปี 2018 ว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพที่มุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพากลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ ฮุนได ซัมซุง และแอลจี
ขณะที่ นายฮวาง ซังแจ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีขั้นสูง จากบริษัท Fluenty ของเกาหลีใต้ กล่าวว่า กฎหมายในประเทศยังมีจุดอ่อนหรือเป็นความท้าทายในการส่งเสริมสตาร์ตอัพ เช่น การให้อำนาจแก่สหภาพแรงงานอย่างเต็มที่ จนทำให้บางธุรกิจเข้าถึงตลาดได้ยาก
ตัวอย่างการประท้วงแอปพลิเคชั่นจากกาเกา แสดงผลลัพธ์ในเชิงลบที่ชัดเจนมาก และหากรัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายปลดล็อกปัญหานี้ได้ จะทำให้ประเทศมีสตาร์ตอัพหน้าใหม่ ๆ ในวงการเทคโนโลยีมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้แทนของกระทรวง SMEs และสตาร์ตอัพของเกาหลีใต้ระบุว่า การประท้วงตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา นับว่าเป็นการบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก ทั้งยืนยันว่าสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นสุดปี 2018 รัฐบาลจะประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่า จะอนุมัติให้แอปเรียกรถของกาเกาสามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้หรือไม่
ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!