2019 “ปีแห่งการเลือกตั้ง” จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ทั่วโลก

ปี 2019 นับเป็น “ปีแห่งการเลือกตั้ง” ที่สำคัญ ๆ ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวเนื่องกับทิศทางการเติบโตของแต่ละประเทศในอนาคต รวมถึงอาจจะเขย่าอำนาจของผู้นำปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

“ไทย” เป็นประเทศแรก ๆ ที่จะมีการเลือกตั้งในต้นปี 2019 โดยรัฐบาลไทยยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดในวันที่ 24 ก.พ. ขณะที่นานาชาติต่างก็จับตามองความเคลื่อนไหวนี้อยู่ไม่น้อย เพราะนับเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 7 ปี หลังจากที่มีการทำรัฐประหาร ขณะที่ “ไฟแนนเชียล

ไทมส์” เคยแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลทหารของไทยเริ่มลงตัวกับการอยู่ในอำนาจต่อไปอีกเป็นเวลานาน จึงเป็นไปได้ที่ผลการเลือกตั้งอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการบริหารประเทศ

อีกหนึ่งชาติสมาชิกอาเซียนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2019 ก็คือ “อินโดนีเซีย” โดยมีกำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน เม.ย. หลาย ๆ สำนักข่าวต่างประเทศ รวมถึงผลโพลจาก “จาการ์ตา โพสต์” ระบุว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (โจโกวี) จะยังกุมชัยเป็นผู้นำในสมัยที่ 2 แม้ว่าปี 2018 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่ค่อนข้างหนักสำหรับผู้นำโจโกวี ตั้งแต่ที่อินโดนีเซียประสบปัญหาขาดดุลแฝด ก็คือ “ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลการค้า” นอกจากนี้ ยังเผชิญปัญหาจากภัยพิบัติธรรมชาติหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่เกิด “สึนามิ” คร่าชีวิตประชาชนไปหลายร้อยคน

อย่างไรก็ตาม ศึกแห่งอำนาจนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะคู่ปรับเก่าของนายโจโกวี นั่นคือ “พลโทปราโบโว ซูเบียนโต” ที่เคยพ่ายในศึกเลือกตั้งครั้งก่อน ประกาศพร้อมรุกหนักเพื่อแย่งบัลลังก์

นอกจากนี้ ยังมีประเทศ “อินเดีย” ที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้เช่นกัน โดยจะจัดขึ้นในเดือน พ.ค. ซึ่งพรรคภารติยะ ชนตะ (BJP) ของรัฐบาลจะส่งตัวแทน คือ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เพื่อชิงอำนาจผู้นำในสมัยที่ 2 อย่างไรก็ตาม การสำรวจของ “อินเดีย ทูเดย์” ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปีก่อน ระบุว่า คะแนนเสียงของ

นายกฯโมดี เริ่มสั่นคลอนนับตั้งแต่ปัญหาการว่างงาน ทั้งยังติดโผว่าเป็น “รัฐบาลที่ล้มเหลวในความพยายามสร้างงานมากที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา”

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2018 ผลยังปรากฏว่า “พรรคคองเกรส” พรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของ “ราหุล คานธี” สามารถชิงคะแนนความนิยมได้มากขึ้น ในบางรัฐที่เป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรครัฐบาลด้วย

ขณะที่ในโซนอเมริกาใต้ การเลือกตั้งของ “อาร์เจนตินา” เป็นอีกประเทศที่น่าติดตาม โดยกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 27 ต.ค. 2019 ซึ่งตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี เมาริซิโอ มาครี ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะ “วิกฤตค่าเงินเปโซ” ที่ร่วงลงอย่างหนัก รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อที่สูงเกือบ 30% จนทำให้อาร์เจนตินาติดอยู่กลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลก

โดยมาตรการเร่งด่วนล่าสุดของผู้นำเพื่อสร้างผลงาน ก็คือ การยุบกระทรวงลงครึ่งหนึ่ง เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ทั้งยังเตรียมจะปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นตรงกันว่า การเอาชนะเลือกตั้งในสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีมาครี อาจจะต้องปาดเหงื่อจนถึงนาทีสุดท้าย

ทั้งนี้ ในปี 2019 ยังมีความเคลื่อนไหวอื่น ๆ จากหลายประเทศ เช่น ในวันที่ 2 พ.ค.นี้ จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นใน “สหราชอาณาจักร” แม้ว่าจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “เบร็กซิต” แต่อย่างใด แต่อย่างน้อยก็เป็นการชี้วัดฐานคะแนนนิยมในตัวนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์สำหรับ “ฟิลิปปินส์” จะครบกำหนดเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ถือว่าเป็นการเช็กคะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน

ขณะที่ใน “สหรัฐอเมริกา” วันที่ 5 พ.ย. จะเป็นการเลือกตั้งในแต่ละรัฐ ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ซึ่งผลการเลือกตั้งนี้สามารถบ่งชี้ได้ถึงอนาคตของสหรัฐ