รวมประเด็นโลกน่าจับตา ปี 2019

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ
2018 ถือเป็นปีที่ย่ำแย่หนักของตลาดหุ้นเอเชีย เพราะได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ มอร์แกน สแตนลีย์ เชื่อว่าปี 2019 ตลาดหุ้นเอเชียจะกลับมาคึกคักสู่ภาวะกระทิง เพราะตลาดได้แตะจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน และถึงรอบที่จะฟื้นตัว

โดยปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญมาจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของจีน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากเผชิญพิษสงครามการค้ากับสหรัฐ ทั้งนี้ มอร์แกนฯประเมินว่า ตลาดเกิดใหม่ (EM) ขนาดใหญ่อย่างเช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย จะมีผลงานที่ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 ซึ่งตรงข้ามกับตลาดสหรัฐที่กำลังอ่อนตัวลง บริษัทจึงปรับน้ำหนักการลงทุนในตลาดเอเชียเป็น “สูงกว่าตลาด” และลดน้ำหนักการลงทุนในสหรัฐสู่ระดับ “ต่ำกว่าตลาด”

ในส่วนของค่าเงินตลาดเกิดใหม่ ซึ่งได้รับแรงกดดันเกือบตลอดปี 2018 หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จนมีผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แต่สำหรับปี 2019 โกลด์แมน แซกส์ คาดการณ์ว่า

ค่าเงินตลาด EM จะดีดกลับ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้น การลงทุนในตลาดหุ้นและค่าเงินในตลาดเกิดใหม่จึงมีโอกาสได้ผลตอบแทนดี

คำเตือน “อลัน กรีนสแปน” ศก.มะกันเสี่ยง Stagflation

ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐดิ่งลงต่อเนื่องอย่างรุนแรงในเดือนธันวาคม 2018 โดยเพียงแค่สัปดาห์เดียวระหว่างวันที่ 17-21 ธันวาคม ร่วงลงมากถึง 1,655 จุด หรือ 6.8% ทำสถิติเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี ต่อมาวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม ดิ่งลงไปอีก 653 จุด หรือ 2.91% ปิดตลาดที่ 21,792 จุด จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดทะลุ 26,000 จุด กลายเป็นคริสต์มาสอีฟที่เลวร้ายที่สุดของตลาดหุ้นสหรัฐ จากปัญหาหลายอย่างทั้งสงครามการค้า ซ้ำท้ายด้วยการปิดหน่วยงานรัฐบาลชั่วคราว เพราะปัญหาร่างงบประมาณไม่ผ่านสภา รวมทั้งกรณีทรัมป์ขู่จะปลดประธานเฟด ฐานขึ้นดอกเบี้ย

อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเคยออกมาเตือนภัยตลาดหุ้นสหรัฐ ช่วงกลางทศวรรษ 1990 อันเป็นช่วงที่ตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยหุ้นเทคโนโลยีว่า “คึกคักอย่างไร้เหตุผล” ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า ในขณะนี้ภาวะกระทิงของตลาดหุ้นสหรัฐสิ้นสุดลงแล้ว จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องยากที่ตลาดจะมีเสถียรภาพและสามารถขึ้นไปได้อีก ดังนั้น นักลงทุนควร “วิ่งหาที่กำบัง” ได้แล้ว

กรีนสแปนยังเตือนด้วยว่า มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะชะงักงัน หรือ stagflation อันหมายถึง ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูง อัตราการว่างงานสูง อย่างที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 แต่จะเกิดขึ้นยาวนานแค่ไหนและมีขนาดใหญ่เพียงใด ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้

สอดคล้องกับความเห็นของโรเบิร์ต ชิลเลอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเยล และผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่แสดงความกังวลต่อตลาดหุ้นที่มีราคาสูงเกินไป รวมทั้งสัญญาณเศรษฐกิจที่อาจถดถอย (recession)

“พักรบ” การค้า 90 วัน ไม่การันตี “แฮปปี้เอนดิ้ง”

บางคนอาจมองในแง่ดีว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ตกลงที่จะพักรบทางการค้าไว้ชั่วคราว 90 วัน เป็นสัญญาณว่าสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจของโลกอาจจบลงอย่างราบรื่น แต่นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยระบุว่า ไม่มีอะไรมารับประกันว่าศึกครั้งนี้จะยุติลง เพราะกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 90 วัน สั้นเกินไป เกินกว่าจะบรรลุข้อตกลงที่ยากและละเอียดอ่อน 3 เรื่อง คือ การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับให้ธุรกิจต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีและสินค้าเกษตร เพราะปกติแล้วประเด็นปัญหาเหล่านี้มักใช้เวลาเจรจาหลายปี


ข้อตกลงที่ 2 ผู้นำตกลงกันไว้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2018 ก็คือระหว่างพักรบนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่มีการเพิ่มภาษีสินค้าระหว่างกันอีก และหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2019 ฝ่ายสหรัฐจะไม่เพิ่มอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% ของสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ แต่หากพ้น 90 วันไปแล้ว ยังไม่สามารถตกลงกันได้ สหรัฐก็จะขึ้นภาษีเป็น 25% เช่นเดิม