“อาลีเพย์-เทนเพย์” แข่งเดือด ปูพรมทั่วโลกเกาะติด “ทัวริสต์จีน”

หลายปีที่ผ่านมา นวัตกรรมการเงินจีนมีการพัฒนาไปมาก ประชากรคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการใช้งาน “โมบาย เพย์เมนต์” ในหัวเมืองใหญ่หลายเมืองของจีน และเริ่มขยายการใช้งานไปสู่แถบชนบท

ผู้เล่นสำคัญได้แก่ “อาลีเพย์” จากยักษ์ “อาลีบาบา” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2009 จากการเป็นระบบจ่ายเงินในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ก่อนที่จะขยายสู่บริการชำระเงินออนไลน์อื่น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร จ่ายบิล ดีลิเวอรี่ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 520 ล้านคน

อีกรายใหญ่คือ “เทนเซ็นต์” ที่พัฒนากลุ่มธุรกิจโมบาย เพย์เมนต์ ชื่อ “เทนเพย์”ซึ่งในปี 2012 เทนเพย์เริ่มแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากอาลีเพย์ โดยเปิดตัว “วีแชทเพย์” ระบบชำระเงินที่ผูกกับแอปพลิเคชั่นสนทนา “วีแชท” ของบริษัทที่มีผู้ใช้กว่าพันล้านคน

เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานอ้างอิงจาก “ไอรีเสิร์ช” ระบุว่า กลางปี 2014 อาลีเพย์มีส่วนแบ่งตลาดโมบาย เพย์เมนต์มากถึง 80% กระทั่งกลางปี 2017 ส่วนแบ่งการตลาดของอาลีเพย์ตกลงมาอยู่ที่ราว 50% เท่านั้น สวนทางกับเทนเพย์ที่กลางปี 2014 ส่วนแบ่งตลาดเพียง 7% และปัจจุบันพุ่งขึ้นถึง 40% ไล่บี้อาลีเพย์มาติด ๆ

การทำธุรกรรมของอาลีเพย์เกิดขึ้นบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ “เถาเป่า” ของอาลีบาบา ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ทำให้มียอดทำธุรกรรมสูงกว่าเทนเพย์ อย่างไรก็ตาม วีแชทเพย์มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่าเกือบ 2 เท่าตัว

นอกจากเป็นระบบที่ผูกกับวีแชท อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้วีแชทเพย์สามารถแข่งกับอาลีเพย์ได้อย่างสูสี คือการออกแคมเปญที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภค เช่น อั้งเปาออนไลน์ (Red Packets) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตรุษจีน2014 โดยเริ่มต้นมีผู้ส่งอั้งเปา 16 ล้านซอง แต่ได้รับความนิยมมากจนปี 2017

ที่ผ่านมา การส่งเพิ่มขึ้นมากถึง 14.2 พันล้านซอง วีแชทเพย์ยังเพิ่มระบบการหารจ่ายเวลากินข้าวกับเพื่อนอีกด้วย ชาวจีนหลายคนให้ความเห็นว่าแม้ว่าอาลีเพย์จะแพร่หลายกว่า แต่วีแชทเพย์เป็นอะไรที่สะดวกสบายเอามาก ๆ

นอกจากการรุกไล่ของ “เทนเพย์” กับ “อาลีเพย์” ในประเทศจีนแล้ว จากที่จีนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญของโลก ส่งผลให้ชนชั้นกลางขยายตัว มีกำลังซื้อมากขึ้น และออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นนับ 100 ล้านคนต่อปี นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญของทั้งอาลีเพย์และเทนเพย์ในการขยายบริการรองรับนักท่องเที่ยวจีนทั่วโลก

ปัจจุบันอาลีเพย์รุกบริการ 28 ประเทศทั่วโลก ขณะที่เทนเพย์ขยายออกไป 15 ประเทศ โดยเล็งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป ทั้งสองค่ายได้ขยายเข้ามาในไทยเมื่อปีที่แล้ว

“Paul Schulte” ผู้ก่อตั้ง “Schulte Research” บริษัทที่ปรึกษาสตาร์ตอัพฟินเทค ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้คล้ายกับการที่ธนาคารอเมริกันในยุค 1950 ขยายสาขาตามนักท่องเที่ยวจากประเทศตัวเองไปยังประเทศต่าง ๆ

“พวกเขาติดตามนักท่องเที่ยวชาติตัวเองเป็นการติดตามลูกค้าของพวกเขา” Schulte กล่าวโมบาย เพย์เมนต์จีนในปี 2016 ขยายตัวจากปีก่อนถึง 200% มีเงินหมุนเวียนถึง 186,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นี่จึงเป็นคำตอบชัดเจนถึงการแข่งขันอย่างดุเดือดที่เกิดขึ้น เพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้ให้บริการอันดับ 1 ในจีนมาให้ได้