ส่องเศรษฐกิจโลก 2019 ผันผวน-เปราะบาง-ถดถอย

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

นักสังเกตการณ์ด้านเศรษฐกิจรวมไปถึงนักวิชาการมีชื่อเสียง มองภาพรวมในอนาคตอันใกล้เต็มไปด้วยความผันผวน ความเสี่ยงสารพัด

ลาร์รี่ ซัมเมอร์ส อาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ด อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา บอกว่าภายใน 1-2 ปีหน้า เศรษฐกิจอเมริกันมีโอกาส 50-50 ที่จะตกสู่ภาวะถดถอย

สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคน เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐตกสู่ภาวะถดถอยปลายปีหน้าหรือต้นปี 2020 มีมากกว่าที่คาดคิด

ทั้งนี้ สหรัฐ เป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่ง เทียบกับทั่วโลกมีแต่ทรงกับทรุดตัวลง ที่ผ่านมาอเมริกาเป็นเครื่องจักรฉุดเศรษฐกิจโลกให้รุดหน้าไปได้

ปัญหาก็คือ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐทรุดตัวลง และสาหัสถึงระดับถดถอย เศรษฐกิจโลกก็คงหนีไม่พ้นต้องชะลอลงรุนแรงเช่นเดียวกัน

อดีตนักการธนาคารและนักเขียน “สัตยาจิต ทาส” แสดงความเห็นผ่านบลูมเบิร์กว่า ถ้าหันมองสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเห็นสภาพเหมือน “ฟองสบู่” เกิดขึ้นมากมาย

ที่สำคัญก็คือ เป็นฟองสบู่เงียบ ที่สั่งสมพลังช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ทุกคนไม่สนใจ และไม่สังเกต หรือบางกรณีก็อาจมองข้ามไปง่าย ๆ

สภาพที่เกิดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐส่งท้ายปี 2018 คือตัวอย่างที่สะท้อนว่า จะเกิดอะไรขึ้นตามมาเมื่อ ฟองสบู่ไม่สามารถปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสัญญาณเตือนภัยได้อีกต่อไป

การปรับมาใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในโลกตะวันตก สร้างแรงกดดันต่อมูลค่าหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจเกิดใหม่ถูกกระหน่ำจากปัญหาต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้นเรื่อย ๆ และปัญหาเงินทุนไหลออกจนขาดแคลนดอลลาร์ในมือ

ความขัดแย้งทางการค้าที่ลุกลามกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ “เดอะ เกรต ดีเปรสชั่น” เมื่อปี 1930 ถูกประเมินผลกระทบต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้หลายประเทศถึงกับโกลาหล

ยังมีปัญหาระดับวิกฤตที่นักวิชาการเรียกว่า “น็อน-ไฟแนนเชียล ริสก์” ตั้งแต่ปัญหายุ่งยากด้านกฎหมายของฝ่ายบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เริ่มกระชับวงล้อมเข้าหา

ตัวผู้นำประชานิยม-ชาตินิยมรายนี้มากขึ้นตามลำดับ เรื่อยไปจนถึง “เบร็กซิต” วิกฤตการณ์การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

ปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเมืองหลายประเทศในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี เรื่อยไปจนถึงพี่เบิ้มกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อความมั่งคั่งจากมูลค่าสินทรัพย์ลดลง และการที่ปริมาณเม็ดเงินรองรับการปล่อยสินเชื่อลดน้อยลง

ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในอนาคตเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งส่งท้ายปี

อดีตประธานเฟดอย่าง เจเน็ต เยลเลน เคยพูดถึง “ความจำเป็น” ที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ย “ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี” เพื่อให้มี “ช่องว่าง” มากพอสำหรับการลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจในยามยาก

ปัญหาคือ เฟดยังไม่สามารถปรับให้ดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ในระดับที่สามารถปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ถ้าหากไม่ยอมให้อัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ในแดนลบ นั่นหมายความว่า ในยุโรปหรือญี่ปุ่นที่อัตราดอกเบี้ยแทบเป็น “ศูนย์” อยู่ในเวลานี้ หมดโอกาสใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของแบงก์ชาติไปโดยปริยาย

เรื่องเดียวกันนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนคิดเห็นตรงกันข้าม เช่น โมฮัมเหม็ด เอล-เอเรียน นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจชื่อดังชาวอเมริกันเชื้อสายอียิปต์ที่ตำหนิเฟดว่า สื่อสารไม่ดีพอ จนทำให้สาธารณชนเข้าใจเอาว่า ภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นมาจริง ๆ

เอล-เอเรียนบอกว่า ถ้าเศรษฐกิจอเมริกันถดถอย เศรษฐกิจทั่วโลกในส่วนที่เหลือต้องชะลอลงอย่างสาหัสไม่น้อย ซึ่งจากสภาพตอนนี้ยังไม่น่าจะเป็นไปได้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!